คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3669/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงินจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้และทำให้โจทก์เสียหายเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทนโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยมูลละเมิดทั่วไป มิใช่มูลละเมิดอันเป็นความผิดมีโทษทางอาญา จึงมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งต้องเริ่มนับอายุความ ตั้งแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหายย่อมต้องนับจากวันที่ผู้แทนของนิติบุคคลได้รู้ดังกล่าว โจทก์เป็นสุขาภิบาลตูมใต้มีนายอำเภอกุมภวาปีเป็นประธานโดยตำแหน่งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอกุมภวาปีสารวัตรใหญ่แจ้งความว่าได้รับคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เข้ามอบตัวในวันเดียวกัน การแจ้งความดังกล่าวมิใช่การแจ้งความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ต้องหาด้วยจะถือว่ารู้ตัวผู้จะต้องรับผิดรายอื่น ๆ ไม่ได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดอันจะนับอายุความในวันดังกล่าวต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวบุคคลผู้ต้องรับผิดเพื่อการละเมิดเกี่ยวกับจำเลยในวันที่นายอำเภอกุมภวาปีคนใหม่รับทราบจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตรายนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในการกระทำละเมิด จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิด คดีขาดอายุความแล้วจำเลยที่ 4 ขาดนัด ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชดใช้เงิน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นสุขาภิบาลเป็นนิติบุคคล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอกุมภวาปี เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโจทก์โดยตำแหน่งจำเลยที่ 2 เป็นปลัดอำเภอกุมภวาปี และเป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์จำเลยที่ 3 เป็นปลัดอำเภอกุมภวาปี และหัวหน้าส่วนการคลังของโจทก์ และจำเลยที่ 4 เป็นเสมียนตราอำเภอกุมภวาปีและเป็นสมุห์บัญชีของสุขาภิบาลโจทก์เงินของโจทก์บางส่วนฝากไว้ที่คลังจังหวัดอุดรธานีและบางส่วนฝากไว้ที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัดสาขากุมภวาปี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2524 จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบฎีกาเบิกเงินในช่องผู้เบิกและมอบฉันทะให้จำเลยที่ 4 นำไปเบิกเงินของโจทก์จากคลังจังหวัดอุดรธานี 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 เป็นเงิน 193,451 บาท และครั้งหลังเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2524 เป็นเงิน 69,992.89 บาทรวมเป็นเงิน 263,443.89 บาท แล้วจำเลยที่ 4 ยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อในใบเบิกเงินขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์จากธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขากุมภวาปี เป็นเงิน 294,087.74 บาท จำเลยที่ 4 ถอนเงินมาแล้วเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวเป็นประโยชน์ส่วนตนเสียและจำเลยที่ 4 ได้หลบหนีไป
มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์กล่าวฟ้องในข้อ 2(1) ว่าจำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณของโจทก์จากคลังจังหวัดอุดรธานีสองครั้งเป็นเงินรวม 263,443.89 บาทโดยจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้จำเลยที่ 4 รับเงินโดยลำพัง แล้วจำเลยที่ 4 ยักยอกเอาเงินดังกล่าวไป ทั้งนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นการปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการ ทำให้โจทก์เสียหายและฟ้องข้อ 2(2) ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อในใบเบิกเงินขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้กับธนาคารเป็นเงิน 294,087.74 บาท โดยมอบให้จำเลยที่ 4 รับเงินแทนแล้วจำเลยที่ 4 เบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติตามหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงิน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 1 กับที่ 4ร่วมกันชำระเงินจำนวนแรกพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้ง 4ร่วมกันชำระเงินจำนวนหลังพร้อมดอกเบี้ย เช่นนี้ คดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้นเป็นคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงิน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้และทำให้โจทก์เสียหายจึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องได้
ส่วนในประเด็นที่ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบแบบแผน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไป เป็นการฟ้องโดยมูลละเมิดทั่ว ๆ ไป มิใช่มูลละเมิดอันเป็นความผิดมีโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง จึงมีอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกซึ่งต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหายย่อมต้องนับจากวันที่ผู้แทนของนิติบุคคลได้รู้ดังกล่าวคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นสุขาภิบาลตูมใต้มีนายอำเภอกุมภวาปี เป็นประธานโดยตำแหน่ง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอกุมภวาปี จำเลยที่ 2 เป็นปลัดอำเภอกุมภวาปีและเป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นปลัดอำเภอกุมภวาปีและหัวหน้าส่วนการคลังของโจทก์ จำเลยที่ 4 เป็นเสมียนตราอำเภอกุมภวาปีและเป็นสมุห์บัญชีของสุขาภิบาลโจทก์ส่วนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเรื่องอายุความนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของนายสันติ มณีกาญจน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเบิกความว่า เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2525 มีการตรวจพบว่าเงินเกี่ยวกับโครงการ กสช. ของอำเภอกุมภวาปีเงินสุขาภิบาล และเงินของฝ่ายปกครองหายไปเพียงเท่านี้ยังมิใช่เป็นการที่ผู้แทนของสุขาภิบาลโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงรับผิด จึงยังไม่เริ่มนับอายุความ ส่วนที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2525 มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสี่นั้น ก็ปรากฏจากเอกสารหมาย ล.5 รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าในวันดังกล่าวระบุว่า พันตำรวจโทสมพงษ์ประทุมเพ็ง สารวัตรใหญ่แจ้งว่า ได้รับคำสั่งจากนายสมภาพศรีวรธาน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีถึงผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่ข้อหาร่วมกันเบียดบังทรัพย์เป็นของตน หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และข้อหาอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ และต่อมาในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้เข้ามอบตัวให้การปฏิเสธ เช่นนี้จะเห็นว่าการแจ้งความดังกล่าวมิใช่การแจ้งความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ต้องหาอยู่ด้วย จะถือว่ารู้ตัวผู้จะต้องรับผิดรายอื่น ๆ คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ได้ ฉะนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดอันจะเริ่มนับอายุความ ข้อเท็จจริงคงปรากฏต่อมาจากคำเบิกความของนายสันติ มณีกาญจน์ พยานโจทก์ว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2525 พยานได้รับคำสั่งให้เป็นประธานกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตรายนี้ และคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิด ส่วนเงินที่ถอนจากธนาคารจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันทั้งหมด ความเห็นนี้ปรากฏจากเอกสารหมาย จ.4ว่าได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2525และนายวีระ เสรีรัตน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอกุมภวาปีคนใหม่ที่ดำรงตำแหน่งแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน2525 เบิกความว่า พยานรับทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม2525 เช่นนี้ จึงถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงตัวบุคคลผู้ต้องรับผิดเพื่อการละเมิดเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวันที่นายวีระเสรีรัตน์ ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์รับทราบจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวน โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2526 ยังไม่เกิน 1 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและศาลชั้นต้นพิพากษาว่าตามฟ้องของโจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ใช้ค่าเสียหาย แต่ความผิดของจำเลยที่ 2และที่ 3 มีเพียงหนึ่งในห้าส่วนของจำเลยที่ 1 จึงควรรับผิดตามส่วนดังกล่าวเท่านั้น
พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นเพียงหนึ่งในห้าส่วนพร้อมดอกเบี้ย

Share