คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตยังไม่ถึงที่สุดเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาก่อน หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงจะถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ก็เป็นเพียงพิพากษาแก้บทลงโทษความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน โดยเห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยฐานนี้ขาดอายุความแล้วจึงลงโทษจำเลยไม่ได้เท่านั้น ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนั่นเอง ความผิดฐานนี้ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืน ซึ่งถึงที่สุดได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกลูกซองขนาด 20 ชนิดประกอบขึ้นเองไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ และกระสุนปืนลูกซองขนาดใดไม่ปรากฏชัดจำนวน 1 นัด จำเลยพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวทั้งไม่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และจำเลยได้ชิงทรัพย์เอารถจักรยานยนต์ของนายสุนทร หวังคละกลาง ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายลิขิต กลายชัยภูมิ ผู้เสียหายที่ 2 และเงินสดจำนวน 3,000 บาทของผู้เสียหายที่ 2 รวมราคาทรัพย์สิน 70,800 บาท ไปโดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1 นัด โดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339, 340 ตรี, 371, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นและฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง สำหรับโทษประหารชีวิตเมื่อลดโทษลงกึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 เมื่อจำเลยถูกจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษฐานอื่นมานับรวมอีกได้ ริบอาวุธปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง

โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยไม่อาจฎีกาได้ แต่ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจะยังไม่ถึงที่สุด โดยเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาก่อน หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงจะถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง ซึ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แม้จะพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ก็เป็นเพียงพิพากษาแก้บทลงโทษความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยฐานนี้ขาดอายุความแล้วจึงลงโทษจำเลยไม่ได้เท่านั้น ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวย่อมมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนั่นเอง ความผิดฐานนี้จึงเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมานั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาคัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนซึ่งถึงที่สุดได้อีกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share