คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญากับ ผ. เพื่อรับดูแลรักษารถยนต์ของ ผ. ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษารถยนต์ของ ผ. ตามสัญญา การที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยไม่ได้ตรวจตราและมีคนลักเอารถยนต์ของผ.ไปจากบริเวณหมู่บ้านจัดสรรจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาหรือละเมิดต่อ ผ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อ ผ. ทั้งในเรื่องสัญญาและละเมิด โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ผ. จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิจาก ผ. มาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่รถยนต์ของ ผ. สูญหายไปได้
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วปรากฏว่าข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องเห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์ จำเลย และพิพากษายกฟ้องไปได้เลย โดยไม่จำต้องให้คู่ความนำพยานเข้าสืบก่อน
ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาเป็นหนังสือและมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยกับคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีครบถ้วนแล้ว ย่อมเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 แม้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวจะเกษียนไว้ในคำฟ้องก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 8 ผ – 9964 กรุงเทพมหานครไว้จากนายผไทรัฐ วงษ์วิวัฒนาวุฒิมีอายุการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัย ตลอดจนดูแลและป้องกันการขโมยทรัพย์สินในบริเวณสถานที่หมู่บ้านอยู่เจริญ แขวงตลาดบางเขน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายผไทรัฐขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดภายในหมู่บ้านอยู่เจริญ ณ บ้านเลขที่ 24/765 ซึ่งเป็นบริเวณที่จำเลยได้รับการว่าจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยต่อทรัพย์สินในบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่ารถยนต์ได้ถูกโจรกรรมสูญหายไป จำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและดูแลทรัพย์สินภายในหมู่บ้านมิให้สูญหาย กลับปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในหมู่บ้าน และโดยจงใจหรือปราะมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ปล่อยให้มีการโจรกรรมรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้ โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์แล้วเป็นเงิน 270,000 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ขอให้บังคับจำเลยนำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ผ – 9964 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 432,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 270,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยรถยนต์ซึ่งโจทก์ได้รับประกันภัยไว้แต่อย่างใด อันจะทำให้โจทก์สามารถอาศัยสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยได้ ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องให้ จำเลยรับผิดได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจิฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดกรณีที่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยสูญหายไปหรือไม่ โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 8 ผ – 9964 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายผไทรัฐ วงษ์วิวัฒนาวุฒิ มีอายุการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 จำเลยได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยความสงบเรียบร้อยตลอดจนดูแลและป้องกันการขโมยทรัพย์สินในบริเวณสถานที่หมู่บ้านอยู่เจริญ แขวงตลาดบางเขน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายผไทรัฐได้นำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เข้าไปจอดที่บ้านเลขที่ 24/765 ภายในหมู่บ้านอยู่เจริญ เช้าวันรุ่งขึ้นนายผไทรัฐทราบว่ารถยนต์ของตนสูญหายไป จำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและดูแลรักษาทรัพย์สินภายในหมู่บ้านอยู่เจริญมิให้สูญหาย ได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาโจรกรรมเอารถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนคืนทุนประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยแล้วเป็นเงินจำนวน 270,000 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยผู้ทำละเมิด เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยได้ตกลงทำสัญญากันนายผไทรัฐเพื่อรับดูแลรักษารถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ผ – 9964 กรุงเทพมหานคร อันเป็นทรัพย์ของนายผไทรัฐตามสัญญา การที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยไม่ได้ตรวจตราและมีคนลักเอารถยนต์คันเกิดเหตุไปจากบริเวณหมู่บ้านอยู่เจริญได้ จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาหรือละเมิดต่อนายผไทรัฐ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายผไทรัฐทั้งในเรื่องสัญญาและละเมิด โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิจากนายผไทรัฐมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่รถยนต์ของนายผไทรัฐสูญหายไปได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2538 ระหว่างบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ บริษัทแอร์การ์ด จำกัด จำเลย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้รับฟังพยานหลักฐานก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วปรากฏว่าข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องเห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์ จำเลย และพิพากษายกฟ้องไปได้เลย โดยไม่จำต้องให้คู่ความนำพยานเข้าสืบก่อน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเขียนคำพิพากษาไว้ในคำฟ้องหน้าแรกของโจทก์จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาเป็นหนังสือและมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยกับคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีครบถ้วนแล้วย่อมเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวจะเขียนไว้ในคำฟ้องก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share