แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้นแสดงว่าคดีได้ดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติดังกล่าวครบถ้วนแล้วจึงเป็นการบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1ล้มละลายทันที แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาคัดค้านเกี่ยวกับศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาก็ไม่จำต้องรอให้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถึงที่สุดเพราะคดีล้มละลายต้องพิจารณาเป็นการด่วนตาม มาตรา 13 และ 153 หากต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายก็เป็นอันตกไปโดยปริยาย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายเป็นผลต่อเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของจำเลยเด็ดขาด และคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้นได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีไว้แล้วมาตรา 61 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ศาลพิพากษาให้จำเลย(ลูกหนี้) ล้มละลาย จึงไม่อาจนำมาตรา 141 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายโดยไม่จำต้องแสดงเหตุผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 141แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นน่าจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายได้ต่อเมื่อคดีที่เกี่ยวกับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดถึงที่สุดแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดีหรือไม่ลงมติประการใดก็ดีหรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดีหรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย” ดังนี้ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก แสดงว่าคดีนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายทันที แม้จำเลยที่ 1จะฎีกาคัดค้านเกี่ยวกับศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม ก็ไม่จำต้องรอให้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถึงที่สุดแล้วเพราะคดีล้มละลายต้องพิจารณาเป็นการด่วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 13 และ 153 หากต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายก็เป็นอันตกไปโดยปริยายเนื่องจากการล้มละลายเริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 62 ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วนั้น เห็นว่า แม้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1มีข้อความดังกล่าวก็ตาม ก็มิใช่เป็นการโต้แย้งคัดค้านว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 มานั้น ไม่ถูกต้องแต่อย่างใดจึงมิใช่ข้อที่จะพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว และข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายโดยมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นโต้แย้งมาก่อนก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153แต่คดีล้มละลายนี้เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายเป็นผลต่อเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนี้ได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีไว้แล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ศาลพิพากษาให้จำเลย (ลูกหนี้) ล้มละลาย จึงไม่อาจนำมาตราแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายมาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาจำต้องแสดงเหตุผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 141 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วยไม่คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน