คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ มาตราการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 นั้นมีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินซึ่งคณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27 และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้ รับผลในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 การร้องขอให้ริบทรัพย์คดีนี้เป็นการยื่นคำร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30การริบทรัพย์สินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนี้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ บัญญัติมิให้นำบทบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36มาใช้บังคับ ดังนั้นการร้องขอให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคสอง ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าให้ศาลริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของข้อความในมาตรา 30 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์นำมาใช้ในการวินิจฉัยขึ้นอ้างอิง และบทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นกฎหมายบทเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ดังนี้ศาลอุทธรณ์จึงมิได้ยกข้อกฎหมายที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามมาตรา 32 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลงบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีของการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย ตามมาตรา 22 อันเป็นคนละกรณีกับกรณีตามมาตรา 30 จึงไม่อาจปรับบทบัญญัติตามมาตรา 32 มาใช้บังคับคดีนี้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2537เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมผู้คัดค้านและนายพันธุ พ่วงมี พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 จำนวน 9,400 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 82.9 กรัม และรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันหมายเลขทะเบียน น-5720 ตาก ซึ่งผู้คัดค้านกับพวกใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านกับนายพันธุ พ่วงมี เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามคดีหมายเลขดำที่ 4811/2537ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สำเนาให้จำเลย รอฟังว่าจะมีผู้ใดคัดค้านประการใดหรือไม่ หากไม่มีผู้ใดคัดค้านเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีที่จำเลยถูกฟ้องแล้ว ให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลภายใน 7 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นรวม 2 วัน ติดต่อกันแล้ว
ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีที่ผู้คัดค้านกับพวกถูกฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 3139/2539 ผู้ร้องได้แถลงต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้อง
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลาง ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์เพื่อให้บุคคลอื่นซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดี แต่ไม่มีบุคคลใดอ้างดังกล่าว เพราะผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำคัดค้านเนื่องจากไม่มีประเด็น ในคดีหมายเลขแดงที่ 3139/2539 ของศาลชั้นต้นนั้น ฟังว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปโดยมีนายพันธุ พ่วงมี นั่งไปด้วย และถูกจับพร้อมเมทแอมเฟตามีน ของกลางอยู่ในรถยนต์คันนั้น แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วยกรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าผู้คัดค้านได้กระทำความผิดหรือไม่ ส่วนนายพันธุ ซึ่งให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษด้วยเหตุที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้คัดค้านแล้ว จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้าน รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะขอรับรถยนต์ของกลางคืน ขอให้ยกคำร้องและสั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันหมายเลขทะเบียน น-5720 ตาก ของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยที่ 1 และนายพันธุ พ่วงมี เป็นจำเลยที่ 2ในข้อหากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 4811/2537 ของศาลชั้นต้นและเนื่องจากรถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านกับพวกใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ในคดีอาญาที่ผู้คัดค้านกับพวกถูกฟ้องดังกล่าว ผู้คัดค้านให้การปฏิเสธ ส่วนนายพันธุให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านด้วยมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าผู้คัดค้านได้กระทำผิดหรือไม่และพิพากษาลงโทษนายพันธุตามคดีหมายเลขแดงที่ 3139/2539เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องได้แถลงขอให้ไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานผู้ร้องไปบ้างแล้ว ผู้คัดค้านจึงยื่นคำคัดค้านและขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามมาตรา 30 วรรคสอง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นพิจารณาในศาลชั้นต้น นอกจากนั้นที่ว่า ผู้คัดค้านในฐานะจำเลยที่ 1กระทำความผิดเพราะเหตุไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสาม นั้น มิชอบด้วยกฎหมายเพราะการพิสูจน์ตนเองตามที่ศาลอุทธรณ์อ้างถึงในการวินิจฉัยนั้นตามเจตนาของพระราชบัญญัตินี้มิได้หมายถึงตัวจำเลย แต่หมายถึงบุคคลอื่นที่อยู่นอกคดี เพราะจำเลยไม่ต้องยื่นคำร้องเข้ามาอีกด้วยมีหน้าที่ต้องสู้คดีตามข้อกล่าวหาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามคดีนี้ต้องวินิจฉัยตามมาตรา 32 เพราะคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีหมายเลขแดงที่ 3139/2539 ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้าน การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้าน เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงผู้คัดค้านชอบที่จะขอรับรถยนต์ของกลางคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง เห็นว่า ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534นั้น มีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินซึ่งคณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27 และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 การร้องขอให้ริบทรัพย์ในคดีนี้เป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 30 ดังกล่าว ซึ่งมาตรา 30 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ วรรคสอง บัญญัติว่าให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้สั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และวรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือในกรณีที่ปรากฏเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบ หรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ ดังนั้นการริบทรัพย์สินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ กรณีนี้มิให้นำบทบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 มาใช้บังคับ การร้องขอให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 การที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าให้ศาลริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง เป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของข้อความในมาตรา 30 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์นำมาใช้ในการวินิจฉัยขึ้นอ้างอิง และบทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นกฎหมายบทเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงมิได้ยกข้อกฎหมายที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ในวรรคสามนั้น เจ้าของมิใช่หมายถึงตัวจำเลย แต่หมายถึงบุคคลอื่นที่อยู่นอกคดี ในเรื่องดังกล่าว ตามมาตรา 30 วรรคสอง กำหนดให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม ดังนี้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น จะเป็นบุคคลอื่นที่อยู่นอกคดี หรือเป็นบุคคลในคดีซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของก็ได้ จึงหมายรวมถึงผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีนั้นด้วยนั่นเองสำหรับปัญหาที่ว่า กรณีนี้ต้องปรับด้วยมาตรา 32 มิใช่ตามมาตรา 30 นั้น ตามมาตรา 32 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติตามมาตรา 32 ดังกล่าวเป็นกรณีของการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามมาตรา 22 อันเป็นคนละกรณีกับคดีนี้จึงไม่อาจปรับบทบัญญัติตามมาตรา 32 มาใช้บังคับคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share