แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์สำนวนหลังเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องวินิจฉัยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยโดยไม่ปรากฏเหตุผลเป็นการไม่ชอบแต่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยใหม่ โจทก์สำนวนหลังบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งหมดว่าได้ร่วมกันใช้รถไถนาบุกรุกเข้าไปไถที่ดินของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8จำนวน 95 ไร่ เหตุเกิดที่ตำบลบ้านใหม่ชัยมงคลอำเภอทุ่งเสลี่ยมจังหวัดสุโขทัย นับว่าได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำและสถานที่ไว้พอสมควรที่จะเข้าใจได้ แม้จะไม่ได้ระบุว่าเข้าไปในที่ดินส่วนใด หรือโจทก์แต่ละคนมีส่วนร่วมคนละเท่าใดก็ไม่ทำให้เข้าใจฟ้องผิดไปได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การได้ที่ดินพิพาทมาจะจดทะเบียนโดยชอบหรือไม่ไม่เป็นข้อสำคัญ เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีกับจำเลยได้ โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีอาวุธปืนจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง และโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ จะเอาข้อเท็จจริงนี้มาเป็นดุลพินิจในการลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2528 เวลากลางวัน จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้รถไถนาบุกรุกเข้าไปไถที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 และนายเฉย หมื่นเข็ม ผู้เสียหายรวมเนื้อที่95 ไร่ เพื่อถือการครอบครองอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข เหตุเกิดที่ตำบลใหม่ชัยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยมจังหวัดสุโขทัย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2), 83 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และที่ 7
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประกอบด้วยมาตรา 365(2), 83 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึบงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ประการแรกที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์สำนวนหลังเคลือบคลุม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยให้ตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยโดยไม่ปรากฏเหตุผล เป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยใหม่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งหมดว่าได้ร่วมกันใช้รถไถนาบุกรุกเข้าไปไถที่ดินกับระบุสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำคือ ที่ดินโจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 จำนวน 95 ไร่ และบรรยายฟ้องต่อไปว่าเหตุเกิดที่ตำบลบ้านใหม่ชัยมงคลอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย นับได้ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำและสถานที่ไว้พอสมควรที่จะเข้าใจได้ แม้จะไม่ได้ระบุว่าเข้าไปในที่ดินส่วนใด หรือโจทก์แต่ละคนมีส่วนร่วมคนละเท่าใดก็ไม่ทำให้เข้าใจฟ้องผิดไปได้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ฎีกาข้อต่อไปที่ว่า ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ อยู่ในเขตอำนาจของนายอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ต้องไปโอนกัน ณ สำนักงานที่ดินอำเภอทุ่งเสลี่ยมจังหวัดสุโขทัย แต่โจทก์ไปทำนิติกรรมโอนที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินอำเภอสวรรคโลกจังหวัดสุโขทัย การโอนจึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าแม้จะเป็นจริงอย่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ฎีกา ก็ปรากฏข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินตามฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 มีสิทธิครอบครองอยู่ จะได้มาโดยทางทะเบียนหรือไม่ไม่เป็นข้อสำคัญเมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ครอบครองอยู่ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้บุกรุกได้
ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพิ่มขึ้นเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5มีอาวุธปืนเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายว่าจำเลยบุกรุก โดยมีอาวุธปืน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยเชื่อตามทางพิจารณาว่า จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยและเห็นว่าพฤติการณ์ที่นำอาวุธปืนติดตัวบุกรุกเข้าไปในที่พิพาทถึง 5 กระบอกโดยเปิดเผยข่มขู่ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แล้วใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพิ่มขึ้น แม้ว่าการลงโทษเป็นดุลพินิจของศาลที่กำหนดตามความร้ายแรงแห่งการกระทำแต่ต้องเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องมาพิจารณา เมื่อโจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกโดยมีอาวุธปืน จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง และโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษ จะเอาเรื่องอาวุธปืนมาเป็นดุลพินิจในการลงโทษจำเลยหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หนักขึ้นนั้นเป็นการพิพากษาเกินคำร้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2