คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่านายหน้าที่โจทก์ได้รับในแต่ละเดือนแม้จะมีจำนวนไม่แน่นอน และไม่เท่ากัน แต่จำเลยจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทุกวันสิ้นเดือน โดยคำนวณตามยอดขายสินค้าที่โจทก์ขายได้และยอดเงินที่จำเลยเก็บค่าสินค้าซึ่งโจทก์ขายได้จึงเป็น การจ่ายเป็นประจำทุกเดือน กรณีถือได้ว่าค่านายหน้าดังกล่าว เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงาน โดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จำเลยต้องนำค่านายหน้าดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าซึ่งต้องนำมารวม เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเกินไปจากจำนวนเงินซึ่งโจทก์ มีสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงิน ดังกล่าวไม่ถูกต้องเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ปัญหานี้เป็น ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 99,611 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 68,124 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยมีเหตุผลอันสมควรและจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองจนครบตามกฎหมายแล้วโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำค่านายหน้ามาคำนวณเป็นค่าชดเชยเพราะค่านายหน้าไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นรางวัลจากการขายสินค้า ซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่เป็นค่านายหน้าดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 99,611 บาทและโจทก์ที่ 2 จำนวน 68,124 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าค่านายหน้าจากการที่โจทก์ทั้งสองขายสินค้า และค่านายหน้าจากการที่จำเลยเก็บเงินค่าสินค้าซึ่งโจทก์ทั้งสองขายได้ เป็นเพียงรางวัลเพื่อจูงใจโจทก์ทั้งสองให้ตั้งใจทำงานเท่านั้น มิใช่ค่าจ้างที่จะนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยนั้น เห็นว่าแม้ค่านายหน้าดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสองได้รับในแต่ละเดือนมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากัน แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าจำเลยจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองทุกวันสิ้นเดือน โดยคำนวณตามยอดขายสินค้าที่โจทก์ทั้งสองขายได้และยอดเงินที่จำเลยเก็บค่าสินค้าซึ่งโจทก์ทั้งสองขายได้เช่นนี้ จึงเป็นการจ่ายเป็นประจำทุกเดือน กรณีถือได้ว่าค่านายหน้าดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการตอบแทนการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทั้งสองทำได้ จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 จำเลยต้องนำค่านายหน้าดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย แต่ค่านายหน้าดังกล่าวซึ่งโจทก์ที่ 2 อ้างว่ามีสิทธิเรียกรวมเป็นเงินเพียง61,777 บาท การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน68,124 บาท จึงเกินไปจากจำนวนเงินซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2จำนวน 61,777 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share