คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาว่าความรับผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มิใช่พิจารณาว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสร็จเด็ดขาด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่งอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาฐานบุกรุกของจำเลย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ กล่าวคือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่ถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความเดียวกับในคดีอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2513 นายบุญสินยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้แก่โจทก์ ต่อมาประมาณปี 2536 จำเลยเข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยได้ไม่รับอนุญาต โจทก์แจ้งให้จำเลยออกไปแล้วจำเลยไม่ยินยอมจึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2544 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 203/2546 ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่ยกฟ้องเนื่องจากจำเลยขาดเจตนากระทำความผิด โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินต่อไปจึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งจำเลยได้รับแล้ว แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่จำเลยอยู่อาศัยโดยมีบ้านเลขที่ 549 หมู่ที่ 8 ปลูกอยู่เดิมเป็นของนายสำเริงใส่ชื่อนายบุญสินไว้แทนซึ่งรวมทั้งที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 ด้วยต่อมานายสำเริงขายให้นายสา ปี 2522 จำเลยเช่าที่ดินและบ้านจากนายขาลบุตรของนายสาพักอาศัยและประกอบการค้าหลังจากนั้นจำเลยซื้อที่ดินและบ้านจากนายขาล ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 ตามฟ้อง จำเลยไม่ขอรับรองว่าตำแหน่งที่ดินถูกต้อง หรือไม่ เพราะตรวจสอบกับโฉนดที่ดินแปลงข้างเคียงแล้วเลขที่ดินไม่ตรงกันและไม่ตรงกับที่ดินแปลงที่จำเลยซื้อจากนายขาล หากเป็นที่ดินแปลงเดียวกันที่ดินเป็นของนายสำเริง ใส่ชื่อนายบุญสินไว้แทนและนายสำเริงมิได้รู้เห็นการที่นายบุญสินยกที่ดินให้โจทก์ นิติกรรมยกให้ตกเป็นโมฆะ จำเลยรับโอนที่ดินต่อจากผู้รับโอนมาจากเจ้าของที่แท้จริงโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยย่อมเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไม่ใช่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลขึ้นอุทธรณ์ให้จำเลย 1,560 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ 40 ตารางวาเศษ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของเทศบาลตำบลกันทรลักษณ์อันเป็นที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยก่อสร้างอาคารในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 โดยวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาท คือ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาลตำบลกันทรลักษ์ โดยมีผู้ยกให้ด้วยเจตนาให้ใช้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยขาดเจตนาบุกรุกและมิใช่ผู้ปลูกสร้างอาคาร จึงพิพากษายกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 203/2546 และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยยังคงอยู่อาศัยในที่ดินแปลงตามฟ้องของพนักงานอัยการตลอดมา วันที่ 3 เมษายน 2546 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษและจำเลยได้รับแล้วแต่เพิกเฉย วันที่ 25 กรกฎาคม 2546 โจทก์ฟ้องคดีนี้ ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อเดียวว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 203/2546 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คดีนี้ไม่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีอาญาแล้ว เห็นว่า คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความรับผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มิใช่พิจารณาว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสร็จเด็ดขาดตามที่จำเลยฎีกา สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่งอันสืบเนื่องมาจากกระทำความผิดอาญาฐานบุกรุกของจำเลย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา แล้วพิพากษาคดีนี้โดยไม่สืบพยานหลักฐานของคู่ความชอบหรือไม่ เห็นว่า การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ กล่าวคือคำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่ถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความเดียวกับในคดีอาญา สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 355 เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาลตำบลกันทรลักษ์ และคู่ความในคดีนี้ก็เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาแล้วพิพากษาคดีนี้โดยไม่สืบพยานหลักฐานของคู่ความจึงชอบแล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ตำแหน่งที่ดินระวางที่ดินยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าที่ดินแปลงที่จำเลยอาศัยคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 355 ตามฟ้องหรือไม่ ศาลชั้นต้นควรสืบพยานหลักฐานให้ได้ความชัดเจนเสียก่อน เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ศาลได้กำหนดข้อพิพาทไว้เพียงประเด็นเดียว คือ ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ไม่มีประเด็นว่าที่ดินแปลงที่จำเลยอาศัยเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 355 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า ศาลกำหนดประเด็นไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนอย่างไร คดีจึงไม่มีประเด็นดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นจะต้องสืบพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคท้าย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share