คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินยืม รายละเอียดของสัญญายืมโจทก์จะเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณา ซึ่งมูลหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกี่ยวข้องอันพอทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว หาจำต้องกล่าวถึงรายละเอียดในสัญญากู้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาของศาล ฉะนั้นคำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์นำคดีฟ้องศาลภายในอายุความฟ้องร้อง ดังนั้น การร้องทุกข์จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด โจทก์มีอำนาจฟ้อง
เมื่อศาลสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องเท่ากับยอมรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจริง ที่จำเลยอ้างว่ากรณีเป็นที่น่าสงสัยเท่ากับเป็นการโต้เถียงขึ้นมาใหม่ว่าไม่ได้กู้ยืมหรือไม่ได้ออกเช็คพิพาท ย่อมกระทำมิได้เพราะถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
เช็คในคดีนี้ทั้งสี่ฉบับจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ตามสัญญากู้ต่างฉบับกัน วันที่สั่งจ่ายในเช็คต่างวันกัน แสดงว่าจำเลยเจตนาสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกกัน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินต่างวันกันจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน หาใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7309/2540, 7311/2540 และ 7312/2540ของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1078/2542 ของศาลชั้นต้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าคำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า “เมื่อเดือนกันยายน 2540 จำเลยได้กระทำความผิดกฎหมายต่างกรรมต่างวาระกันกล่าวคือ จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาคลองสาน จำนวน 4 ฉบับ คือ โดยเช็คทั้ง 4 ฉบับจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายนำมาชำระหนี้เงินยืม รายละเอียดของสัญญากู้ยืมโจทก์จะเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณา ซึ่งมูลหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ทั้งสี่นำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่าย โจทก์ทวงถาม จำเลยเพิกเฉย” เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกี่ยวข้องอันพอทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วหาจำต้องกล่าวถึงรายละเอียดในสัญญากู้ตามที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาของศาล ฉะนั้น คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสี่ฉบับ วันที่ 1,6 และ 10 เดือนตุลาคม 2540 เมื่อโจทก์นำคดีฟ้องศาลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 อยู่ในอายุความฟ้องร้อง ดังนั้น การร้องทุกข์จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด โจทก์มีอำนาจฟ้อง และที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อในเช็คพิพาทกับในสัญญากู้ไม่เหมือนกัน และรายละเอียดในคำฟ้องแตกต่างจากในรายงานประจำวัน กรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรนั้น เห็นว่า เมื่อศาลสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง เท่ากับยอมรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสี่และออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวจริง ที่จำเลยอ้างว่ากรณีเป็นที่น่าสงสัยเท่ากับเป็นการโต้เถียงขึ้นมาใหม่ว่าไม่ได้กู้ยืมหรือไม่ได้ออกเช็คพิพาท ย่อมกระทำมิได้เพราะถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเช็คในคดีนี้ทั้งสี่ฉบับจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 ต่างฉบับกัน วันที่สั่งจ่ายในเช็ค เอกสารหมาย จ.9 จ.11 จ.13 และ จ.15 ต่างวันกัน แสดงว่าจำเลยเจตนาสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกกัน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายต่างวันกันจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ หาใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามที่จำเลยฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share