คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดแบบให้ต้องทาเป็นหนังสือ ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1มิได้ตกลงให้ทำสัญญาซื้อขายกันเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยที่ 1และโจทก์ได้ตกลงซื้อขายข้าวกันตามที่ได้เสนอเสนอสนองและตกลงกันได้ตามโทรพิมพ์ และสำเนาโทรพิมพ์ เมื่อคำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในการซื้อขายข้าวถูกต้องตรงกันสัญญาขายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 หาจำต้องทำสัญญาซื้อขายข้าวเป็นหนังสือไม่ สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในโทรพิมพ์ดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายข้าวจึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทั้งไม่มีการวางประจำ และไม่มีการชำระหนี้บางส่วนโดยจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายข้าวได้ การที่โจทก์ผู้ซื้อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ขายโดยโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารต่างประเทศ มายังธนาคารในประเทศไทยนั้นต้องถือว่าธนาคารต่างประเทศเป็นเพียงตัวแทนของผู้ซื้อในต่างประเทศและธนาคารในประเทศไทยเป็นตัวแทนของธนาคารต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง แม้ผู้ซื้อในต่างประเทศจะได้ชำระเงินเพื่อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว ก็เป็นเพียงการชำระเงินให้แก่ตัวแทนของตนเท่านั้น หาอาจจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้ขายหรือตัวแทนของผู้ขายหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขายยังไม่ได้ไปรับเงินจากธนาคารตามเลตเอตร์ออฟเครดิตนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายข้าว จำนวน 1,364 ตัน เป็นเงิน 355,740 เหรียญสหรัฐโดยจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าดังกล่าวไปประเทศอัฟริกาใต้ ในการทำสัญญาจำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1ดำเนินการแทน หลังจากทำสัญญา โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้ผ่านธนาคารอินโด สุเอช สาขาเจนีวา และส่งเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวมายังธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวไปจากธนาคารกรุงเทพ จำกัดสำนักงานใหญ่แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ภายในกำหนดเวลา เป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 3,530,958.66 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาซื้อขายข้าวยังไม่เกิด โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยติดต่อค้าข้าวและไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำความตกลงเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขายข้าวขาวไทยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ชำระเงินจำนวน 342,926.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายข้าวพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดแบบให้ต้องทำเป็นหนังสือที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า”ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ” นั้น ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้แจ้งโจทก์ว่าจะต้องทำสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทกันเป็นหนังสือแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปอีกด้วยว่า หลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้ตามโทรพิมพ์และสำเนาโทรพิมพ์ดังกล่าว โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิต เอกสารหมาย จ.5 เพื่อชำระราคาสินค้าข้าวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตตรงตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1ดังกล่าว แล้วต่อมาในวันที่ 1 วันที่ 4 และวันที่ 9 กันยายน 2530โจทก์ได้มีโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.24 จ.25 และ จ.26 ให้จำเลยแจ้งกำหนดการส่งสินค้าข้าวพิพาทลงเรือให้โจทก์ทราบ แล้วจำเลยก็ได้มีโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.28 แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2530 ว่า เรือบรรทุกสินค้าซึ่งจะใช้เป็นเรือบรรทุกสินค้าตามแอล/ซี ที่โจทก์เปิดให้แก่จำเลยเพื่อที่จะชำระราคาสินค้าข้าวพิพาทเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครช้ากว่ากำหนด เนื่องจากความแออัดที่ทาเรือ เมืองจีน และขอให้โจทก์แก้ไขแอล/ซี สำหรับการขนส่งช่วงตุลาคม 2530 ให้มีอายุใช้ได้จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2530 ด้วย การที่จำเลยที่ 1 มีโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.28 แจ้งโจทก์เช่นนั้น จึงทำให้เชื่อได้ยิ่งขึ้นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ตกลงให้ทำสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทเป็นหนังสือ โดยจำเลยที่ 1 และโจทก์ต่างถือได้ว่าตกลงซื้อขายข้าวพิพาทกันตามที่ได้เสนอสนองและตกลงกันได้ตามโทรพิมพ์และสำเนาโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.18 ถึง จ. 23 และ จ.8 นั้นแล้วเมื่อคำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในการซื้อขายข้าวพิพาทถูกต้องตรงกัน สัญญาซื้อขายข้าวพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงย่อมเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1หาจำต้องทำสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทเป็นหนังสือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฎิบัติตามสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทได้หรือไม่ในปัญหานี้เห็นว่า สัญญาซื้อขายข้าวพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไปซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 วรรคสาม แต่ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทโดยการติดต่อทางโทรศัพท์ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในโทรพิมพ์ดังกล่าวแต่อย่างใด และหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทกันเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการซื้อขายข้าวพิพาทนี้อีกแต่อย่างใด ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างก็ไม่ได้วางมัดจำสำหรับสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทไว้ให้แก่กันยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 1 ก็มิได้ส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทให้แก่โจทก์เลยด้วย สัญญาซื้อขายข้าวพิพาทจึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายต้องรับผิดเป็นสำคัญทั้งไม่มีการวางประจำ และไม่มีการชำระหนี้บางส่วนโดยจำเลยที่ 1 อันจะเป็นหลักฐานของโจทก์ในการฟ้องบังคับคดีให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทนั้นได้ โจทก์จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนตามสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ในข้อนี้ทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทกันจากการติดต่อโต้ตอบกันทางโทรพิมพ์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์ได้ปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำนวน 346,500 เหรียญสหรัฐตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิต เอกสารหมาย จ.5 ให้แก่จำเลยที่ 1กับธนาคารอินโดสุเอช สาขาเจนีวา ส่งมายังธนาคารกรุงเทพ จำกัดสำนักงานใหญ่ และจำเลยที่ 1 รับเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวไปแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มีโทรพิมพ์ตามสำเนาโทรพิมพ์เอกสารหมาย จ.6 โจทก์แก้ไขรายการบางรายการในเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้แก้ไขเลตเตอร์ออฟเครดิตให้เช่นนั้นตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิต เอกสารหมาย จ.7 แต่การที่โจทก์เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากนายสมนึก คิดสนอง หัวหน้าหน่วยงานเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ พยานโจทก์ว่า การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตถือว่าบริษัทผู้ซื้อได้สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายโดยมีธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตบริษัทผู้ชื้อจะชำระเงินต่อเมื่อผู้ขายได้ส่งสินค้าลงเรือและนำเลตเตอร์ออฟเครดิตพร้อมกับเอกสารมาติดต่อยังธนาคาร กล่าวคือเมื่อบริษัทผู้ขายส่งสินค้าลงเรือไปต่างประเทศแล้ว บริษัทผู้ขายก็จะนำใบส่งสินค้าและเอกสารอื่น ๆ มายื่นต่อธนาคาร เมื่อธนาคารได้ตรวจสอบเอกสารแล้วเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์ ธนาคารก็จะคิดราคาสินค้าตามเอกสารและนำเงินตามจำนวนเอกสารดังกล่าวเข้าบัญชีของผู้ขาย กล่าวได้ว่าผู้ขายมีหลักประกันแน่นอน โดยธนาคารจะชำระเงินให้แก่ผู้ขายเมื่อผู้ขายได้ส่งสินค้าลงเรือ และมีเอกสารพร้อมเลตเตอร์ออฟเครดิตมาติดต่อกับธนาคาร และนายสมหวัง ไชยกุลกรรมการของจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองว่า การซื้อขายในระบบเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น เมื่อส่งสินค้าลงเรือและทางผู้ขายได้เอกสารต่าง ๆ ครบตามเงื่อนไขตามเลตเตอร์ออฟเครดิตก็สามารถนำเลตเตอร์ออฟเครดิตพร้อมเอกสารนั้นไปขึ้นเงินจากธนาคารได้ทันทีคำเบิกความของนายสมคิดพยานโจทก์และนายสมหวังพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวมีน้ำหนักให้ฟังได้ว่า การซื้อขายสินค้าโดยผู้ซื้อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ให้แก่ผู้ขายนั้น ผู้ขายยังไม่ได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายจนกว่าผู้ขายได้ส่งสินค้าตามสัญญาซื้อขายนั้นลงเรือและนำเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตไปยื่นต่อธนาคาร ซึ่งเมื่อธนาคารได้ตรวจสอบเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวให้แก่ผู้ขาย ตราบใดที่ผู้ขายยังมิได้ส่งมอบสินค้าลงเรือผู้ขายก็ไม่สามารถนำเลตเตอร์ออฟเครดิตไปขอรับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นจากธนาคารได้ การที่โจทก์ผู้ซื้อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิต เอกสารหมาย จ.5ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขบางรายการตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ขายนั้น จึงเป็นเพียงการกระทำเพื่อชำระราคาค่าสินค้าข้าวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าข้าวพิพาทลงเรือและนำเอกสารตามที่ระบุไว้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นไปยื่นต่อธนาคารเพื่อขอรับเงิน โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินราคาสินค้าข้าวพิพาทจากธนาคารก็ต่อเมื่อธนาคารได้ตรวจสอบเอกสารที่จำเลยที่ 1 นำมายื่นแล้วเห็นว่าถูกต้อง ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1ได้ส่งมอบข้าวพิพาทลงเรือไปให้โจทก์และนำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวจากธนาคาร จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าข้าวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาสินค้าข้าวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1โดยสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทระหว่างโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญ ทั้งมิได้มีการวางมัดจำไว้โดยโจทก์หรือจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ก็ไม่ได้ชำระหนี้โดยการส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทให้แก่โจทก์แต่อย่างใด สัญญาซื้อขายข้าวพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีที่โจทก์จะฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายข้าวพิพาทกับโจทก์ให้แก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์และจำเลยที่ 1 อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ทั้งสามศาลและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share