แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองต่อมา ขอให้ขับไล่และห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกรณีย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้วแม้จำเลยที่ 2 จะยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3000จำเลยที่ 1 ได้ไถรุกล้ำทำลายคันนาเข้ามาในที่ดินของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเส้นประสีแดง ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000 บาทและค่าเสียหายอีกปีละ 1,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3000 จำเลยที่ 1 ทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2997ของตนทั้งแปลงเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2997 กับที่ดินแปลงอื่นให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมิได้เกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2997 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3000 จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินตามแนวที่ดินของจำเลยที่ 2 เท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินหรือชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3000ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ 2พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3000 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรีของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000 บาทและต่อไปอีกปีละ 1,000 บาท จนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองจึงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองต่อมา ขอให้ขับไล่และห้ามจำเลยที่ 1ที่ 2 เข้าเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท กรณีนี้ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 2จะยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน