แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และ 53 เป็นบทบัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิเศษ คือ การบัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอและให้มีผลผูกพันผู้ที่มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดีด้วยได้ เพราะคดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและผู้มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี ซึ่งบางครั้งก็มีจำนวนมาก การต้องฟ้องร้องทุกเรื่องย่อมเกิดความล่าช้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ในการที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมและไม่ให้เกิดข้อพิพาทตามมา แต่จะต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจน การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติกับสมาชิกอื่นของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และ 53
ย่อยาว
คดีทั้งสิบห้าสำนวนศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบห้าสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 15 และเรียกจำเลยทั้งสิบห้าสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสิบห้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสมทบเพิ่มอีกจำนวน 26,641.76 บาท 35,701.64 บาท 44,618.57 บาท 22,642.33 บาท 21,813.88 บาท 19,615.29 บาท 21,650.27 บาท 14,510.05 บาท 22,454.03 บาท 21,438.28 บาท 31,010.54 บาท 24,223.84 บาท 13,402.50 บาท 22,995.10 บาท และ 23,638.05 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบห้า
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้า
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายผลประโยชน์ของเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสมทบเพิ่มให้โจทก์ทั้งสิบห้าดังนี้ จ่ายให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 26,641.76 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 35,701.64 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 44,618.57 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 22,642.33 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 21,813.88 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 19,615.29 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 21,650.27 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 14,510.05 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 22,454.03 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 21,438.28 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 31,010.54 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 24,223.84 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 13,402.50 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 22,995.10 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 23,638.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดเงินทั้งสิบห้าจำนวน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบห้าและให้คำพิพากษานี้มีผลบังคับแก่สมาชิกของจำเลยที่ 1 คนอื่นๆ ทุกคนด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรก การคิดเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบของสมาชิกคิดถึงวันสิ้นสมาชิกภาพ คือวันที่ 31 ธันวาคม 2550 หรือวันที่ 11 มกราคม 2551 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียว ภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ” และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 32 ระบุว่า สมาชิกจะมีสิทธิในเงินสะสมส่วนของสมาชิกผู้นั้น รวมทั้งผลประโยชน์สุทธิที่จัดสรรให้อันเป็นส่วนที่เกิดจากเงินสะสมของสมาชิกตามยอดเงินในบัญชีเต็มจำนวนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ และข้อ 33 ระบุว่า สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพในกรณีอื่นนอกเหนือจากกรณีตามข้อ 34 มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ พร้อมทั้งเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่สมาชิกมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับดังนี้เต็มตามจำนวน และข้อ 39 ระบุว่า เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิกหรือเหตุตามข้อ 36 ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทจัดการจ่ายเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ รวมทั้งผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ในส่วนของสมาชิกผู้นั้นให้แก่สมาชิกหรือผู้รับประโยชน์ โดยจ่ายทั้งหมดครั้งเดียวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพ เห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งถึงวิธีคิดเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบถึงวันใดเป็นวันสุดท้าย เมื่อโจทก์ทั้งสิบห้าเกษียณอายุตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ถือว่าบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบห้าในวันดังกล่าว เป็นผลให้โจทก์ทั้งสิบห้าสิ้นสมาชิกภาพในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 โจทก์ทั้งสิบห้าซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 ในวันสิ้นสมาชิกภาพเพราะหลังวันสิ้นสมาชิกภาพ โจทก์ทั้งสิบห้าพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อหากำไรอีก ดังนั้นการคิดเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบคืนให้โจทก์ทั้งสิบห้าจึงต้องคิดถึงวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสมาชิกภาพคือวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ส่วนที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 36 ที่ระบุว่า โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียว ภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ หมายความว่า บทบัญญัติและข้อบังคับกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดคราวเดียวโดยเร็วอย่างช้าไม่เกิน 30 วัน ซึ่งต้องคำนวณถึงวันสิ้นสมาชิกภาพวันที่ 31 ธันวาคม 2550 โดยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปไม่เกินสามสิบวันเพื่อนำไปเลี้ยงดูชีวิตตนเองและครอบครัว ส่วนที่จำเลยที่ 2 คิดผลประโยชน์ของเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้โจทก์ทั้งสิบห้าโดยคิดคำนวณถึงวันที่ 11 มกราคม 2551 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางพิพากษาในประเด็นนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติกับสมาชิกอื่นตามแนววินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควร หรือเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” และมาตรา 53 บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง แต่ศาลแรงงานจะกำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งผูกพันนายจ้างของลูกจ้างอื่นซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วยกันก็ได้” บทบัญญัติสองมาตราบัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิเศษ คือ การบัญญัติให้ศาลแรงงานพิพากษาเกินคำขอและให้มีผลผูกพันผู้ที่มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดีได้ เพราะคดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและผู้มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดีซึ่งบางครั้งก็มีจำนวนมาก การต้องฟ้องร้องกันทุกเรื่องย่อมเกิดความล่าช้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ในการที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมและไม่ให้เกิดข้อพิพาทติดตามมาแต่จะต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติกับสมาชิกอื่นของจำเลยที่ 1 ตามแนววินิจฉัยนี้โดยระบุไว้ชัดเจน คำพิพากษาจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และมาตรา 53 ศาลแรงงานกลางพิพากษาในประเด็นนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในข้อสุดท้าย ศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองจะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยทั้งสองจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ตามบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าให้เป็นที่สุด คดีนี้จำเลยทั้งสองมิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว จำเลยทั้งสองเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน