แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าส.ลูกจ้างโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่อย่างไรผิดข้อบังคับอย่างไรและจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไรซึ่งเป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดหรือสูญหายไปซึ่งจำเลยผู้ค้ำประกันการทำงานของส.ต้องรับผิดดังนี้ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องส.กับพวกในคดีของศาลแรงงานกลางโดยบรรยายฟ้องว่าส. กับพวกเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการกิจการและดำเนินงานของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือมีหน้าที่เก็บรักษาตรวจสอบจัดทำทะเบียนคุมสินค้าและวัสดุของโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับแต่หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่เป็นเหตุให้สินค้าและวัสดุของโจทก์ขาดหรือสูญหายไปนับว่าเป็นมูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นมูลละเมิดอย่างเดียวไม่แต่มีมูลเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วยเมื่อสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคืออายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30 เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมมีมติให้ส.ใช้บุคคลค้ำประกันเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะจัดหาที่ดินมาจำนองเป็นประกันแทนต่อมาส. ได้จัดหาที่ดินมาจำนองแล้วโดยจำเลยที่2เป็นผู้นำที่ดินมาจำนองดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่1ทำไว้กับโจทก์ย่อมสิ้นความผูกพันนับแต่จำเลยที่2นำที่ดินมาจำนองจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายสุพัฒน์ ศิริอังคาวุธ เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการเมื่อปี 2531 มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการทำงานตามสัญญาจ้างโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จำนองที่ดิน น.ส.3เลขที่ 205 ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกันความเสียหายดังกล่าวด้วยเป็นเงินจำนวน200,000 บาท ต่อมาได้มีการขึ้นวงเงินจำนองอีกจำนวน 3,800,000 บาทรวมเป็นวงเงินที่จำนองจำนวน 4,000,000 บาท ส่วนนายประพันธ์ ชัยชาญ เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานสต๊อกเมื่อปี 2529 มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการทำงานตามสัญญาจ้าง โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างการทำงานนายสุพัฒน์และนายประพันธ์ซึ่งมีหน้าที่ต้องร่วมกันเก็บรักษาและรับผิดชอบตรวจสอบ จัดทำทะเบียนคุมสินค้าและวัสดุของโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับเป็นประจำวัน ประจำเดือน และประจำปี แต่นายสุพัฒน์และนายประพันธ์หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ อันเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้สินค้าและวัสดุของโจทก์ขาดหรือสูญหายไป ได้แก่ ข้าวสารหอมมะลิข้าวสารเหนียว ข้าวสารเมล็ดสั้น รำอ่อน รำหยาบ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเมล็ดยาว ข้าวเปลือกเมล็ดสั้น กระสอบใหม่และกระสอบเก่า รวมเป็นเงินจำนวน 5,760,597.40 บาท ต่อมานายสุพัฒน์และนายประพันธ์ได้ขอเจรจากับโจทก์เพื่อขอผ่อนชำระค่าเสียหายดังกล่าวบางส่วนโดยทำหนังสือรับใช้หนี้จำนวน 2 ฉบับซึ่งโจทก์ตกลงด้วยและแจ้งให้นายสุพัฒน์และนายประพันธ์ชำระค่าเสียหายในส่วนที่ยังขาดอยู่ แต่บุคคลทั้งสองเพิกเฉย ต่อมาเมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับใช้หนี้ทั้งสองฉบับนายสุพัฒน์และนายประพันธ์ผิดนัด นอกจากนี้นายสุพัฒน์ในฐานะผู้จัดการโจทก์ได้ขายหมอแดงและข้าวสารหอมมะลิของโจทก์แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ปรากฏตัวผู้ซื้อรวม 2 รายการ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นเงินจำนวน 7,127.25 บาท และจำนวน 110,025 บาท ตามลำดับและนายสุพัฒน์ได้เบิกเงินล่วงหน้าเพื่อวางมัดจำการซื้อหอมแดงแก่บุคคลภายนอกเป็นเงินจำนวน 700,000 บาท นายสุพัฒน์นำหอมแดงมาหักบัญชีเงินเบิกล่วงหน้าได้เพียง 577,777.86 บาท คงเหลือเงินที่เบิกล่วงหน้าจำนวน 122,222.14 บาท แต่นายสุพัฒน์ไม่ส่งเงินคืน ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 9333/2536 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้บุคคลทั้งสองชดใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ บุคคลทั้งสองเพิกเฉย จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จองประกันการทำงานของนายสุพัฒน์ และจำเลยที่ 3 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของนายประพันธ์จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงิน 3,277,664.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน 3,199,672 บาท และ 77,992.30 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2535 และวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงิน53,215 บาท และ 122,222.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2532 และวันที่ 22กรกฎาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามลำดับทั้งให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 205 ตำบลกำแพงอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยชำระเงินตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชดใช้เงินดังกล่าว ให้นำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอให้จำเลยทั้งสี่ชำระส่วนที่ขาดจนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การร่วมกันว่า นายสุพัฒน์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบของโจทก์ทุกประการ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อในหน้าที่ตามฟ้องความเสียหายตามฟ้องไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายสุพัฒน์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันกับนายสุพัฒน์โดยมีข้อตกลงกับโจทก์ว่า เมื่อนายสุพัฒน์หาทรัพย์สินมาประกันการทำงานได้ จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นจากความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองประกันการทำงานของนายสุพัฒน์ตามสัญญาจ้างแล้ว สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์จึงเป็นอันยกเลิกจำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความในมูลหนี้ละเมิด 1 ปีและเป็นฟ้องเคลือบคลุม การขึ้นวงเงินจำนองเมื่อวันที่ 11 มีนาคม2535 หากบังคับจำนองแล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดชดใช้ในส่วนที่ขาดเพราะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การร่วมกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นเพียงผู้ค้ำประกัน ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหนังสือรับสภาพหนี้ที่นายประพันธ์ทำเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวง ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 9333/2536 ตามฟ้อง เหตุละเมิดตามฟ้องไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายประพันธ์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์และจำเลยทั้งสี่แถลงรับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายวนิตย์ อาจสาลี นางศิริลักษณ์ พร้อมเพราะและนายประพันธ์ ชัยชาญ ในคดีหมายเลขดำที่ 5125/2535 หมายเลขแดงที่ 9333/2536 ของศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 3,277,664.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินจำนวน 3,199,672 บาท นับแต่วันที่ 21มีนาคม 2535 และของต้นเงินจำนวน 77,992.30 บาท นับแต่วันที่17 พฤษภาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 53,215 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2532 และของต้นเงินจำนวน 122,222.14 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเฉพาะจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 2 นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้นำที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 205 ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัยจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่านายสุพัฒน์ปล่อยปละละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่อย่างไร ผิดข้อบังคับอย่างไร จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไร ซึ่งจะเป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เป็นบุคคลภายนอกไม่อาจทราบและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่านายสุพัฒน์เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการ มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการกิจการและดำเนินงานของโจทก์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมาย มีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนโจทก์ในการติดต่อกับบุคคลที่สาม เป็นคู่สัญญาแทนโจทก์กับบุคคลที่สามชำระเงินของโจทก์แก่บุคคลที่สาม และจัดทำทะเบียนคุมสินค้าและวัสดุของโจทก์ ขณะที่นายสุพัฒน์อยู่ในฐานะและกระทำการในตำแหน่งดังกล่าวได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะพึงมีตามวิสัยและพฤติการณ์ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อีกทั้งกระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ด้วย กล่าวคือ นายสุพัฒน์มีหน้าที่เก็บรักษาและรับผิดชอบ ตรวจสอบ จัดทำทะเบียนคุมสินค้าและวัสดุของโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับเป็นประจำวัน ประจำเดือน และประจำปี แต่หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่กลับปล่อยปละละเลยไม่กระทำการตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งอยู่ในวิสัยและพฤติการณ์ที่นายสุพัฒน์จะกระทำได้ เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่จนเป็นเหตุให้สินค้าและวัสดุของโจทก์ขาดหรือสูญหายไปจากความจริงซึ่งนายสุพัฒน์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและตรวจนับสต๊อกสินค้าและวัสดุของโจทก์ที่อยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลรักษาของตนต้องร่วมรับผิดชดใช้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่านายสุพัฒน์ปล่อยปละละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่อย่างไร ผิดข้อบังคับอย่างไร และจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไร ซึ่งเป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดหรือสูญหายไป เช่นนี้ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วไม่ใช่ขาดข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า โจทก์กล่าวอ้างว่านายสุพัฒน์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย เป็นเรื่องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด โจทก์ต้องยื่นฟ้องนายสุพัฒน์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องรับผิด เมื่อมิได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องนายสุพัฒน์กับพวกในคดีของศาลแรงงานกลาง(ศาลจังหวัดศรีสะเกษ) ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9333/2536 โดยบรรยายฟ้องว่า นายสุพัฒน์กับพวกเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการกิจการและดำเนินงานของโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ มีหน้าที่เก็บรักษาตรวจสอบ จัดทำทะเบียนคุมสินค้าและวัสดุของโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับ แต่หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ เป็นเหตุให้สินค้าและวัสดุของโจทก์ขาดหรือสูญหายไปนับว่าเป็นมูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นมูลละเมิดอย่างเดียวไม่ แต่มีมูลเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย เพราะโจทก์กับนายสุพัฒน์เป็นนายจ้างและลูกจ้างกันตามสัญญาจ้างแรงงาน สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์กล่าวหาว่านายสุพัฒน์ผิดนัดไม่ชำระค่าเสียหายให้เสร็จสิ้นภายในปี 2535 และ 2536 ตามยอดหนี้แต่ละจำนวนและโจทก์ฟ้องนายสุพัฒน์ เมื่อปี 2536 ภายในอายุความดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันและมีผู้จำนองจะยกอายุความเรื่องละเมิด 1 ปี นับแต่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้หาได้ไม่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อมาว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกันและภายหลังเข้าทำสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 1 มีรายงานการประชุม ชุดที่ 7 ลงวันที่ 15 เมษายน2531 ข้อ (1)(3) รายงานการประชุม ชุดที่ 8 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม2531 ข้อ (2) และฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2531 ข้อ (3.2) มีประเด็นต้องแปลข้อความในเอกสารดังกล่าวถึงเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาค้ำประกันมีผลผูกพันเพียงใด ตามรายงานการประชุมดังกล่าวสามารถแปลเจตนาของคู่กรณีได้ว่า จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาค้ำประกันเพียงชั่วคราว หากได้มีการนำหลักทรัพย์มาจำนองประกันแล้วก็จะสิ้นความผูกพันที่ได้สัญญาค้ำประกันกันไว้โดยมิจำต้องบอกเลิกสัญญา เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 1ทำสัญญาค้ำประกันแล้วได้นำหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 มาจดทะเบียนจำนอง จำเลยที่ 1 จึงสิ้นความผูกพันตามสัญญาค้ำประกัน นั้นตามรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานของโจทก์ ชุดที่ 7 ลงวันที่ 15 เมษายน 2531 ข้อ 8 ข้อย่อยที่ 1 ระบุว่า ให้จัดจ้างนายสุพัฒน์เป็นผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2531เป็นต้นไป ข้อ 3 อนุญาตให้นายสุพัฒน์ใช้บุคคล 2 คน ค้ำประกันในระยะเวลา 1 เดือน และให้หาที่ดินมาจำนองค้ำประกันแทนภายในกำหนดข้างต้น ตามรายงานการประชุม ชุดที่ 8 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม2531 ข้อ 2 ระบุว่า รับรองรายงานการประชุมครั้งที่กล่าวข้างต้นและรายงานการประชุม ชุดที่ 8 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2531 ข้อ 3.2ระบุว่า กรณีหลักประกันผู้จัดการ ผู้จัดการชี้แจงว่าได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยมีนายวนิตย์ อาจสาลี ตำแหน่งรองประธานกรรมการและนายทองสุข จันทาทอง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการเป็นผู้ตรวจสอบที่ดินและดำเนินการจำนอง นายวนิตย์ชี้แจงว่า สภาพที่ดินมีความเหมาะสมกับราคาจำนอง 200,000 บาท เช่นนี้ เห็นว่า เป็นเรื่องคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมมีมติให้นายสุพัฒน์ใช้บุคคลค้ำประกันเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะจัดหาที่ดินมาจำนองเป็นประกันแทน และต่อมาหลังจากนั้นนายสุพัฒน์ไดัจัดหาที่ดินมาจำนองแล้วโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำที่ดินมาจำนอง ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ย่อมสิ้นความผูกพันนับแต่จำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจำนอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง