คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าผู้คัดค้านจะมิได้ปฏิเสธข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่า ต.ซื้อที่พิพาทโดยใส่ชื่อช. ไว้ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านก็ได้บรรยายไว้ในคำร้องคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิที่ผู้คัดค้านได้มาโดยซื้อมาจาก ช. ตามส่วนที่ช.เจ้าของเดิมมีอยู่ช. ได้บอกขายที่พิพาทก่อนผู้คัดค้านซื้อเป็นเวลานาน ถือว่าผู้คัดค้านได้กล่าวไว้ในคำร้องคัดค้านแล้วว่าช. เป็นเจ้าของที่พิพาท ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ม.มอบที่ดินให้แก่ ช. เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมเงินไปนั้น จึงเป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งการเป็นเจ้าของที่พิพาทซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะนำสืบได้ แม้ว่าผู้คัดค้านกล่าวในคำร้องคัดค้านเพียงว่า ช.เจ้าของเดิมได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมาไม่เคยทอดทิ้งก็ตามผู้คัดค้านก็ชอบที่จะนำสืบได้ว่า ช. ให้ จ. ป. และบุคคลอื่นเช่าที่พิพาทเพราะเป็นการนำสืบว่า ผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทโดยให้บุคคลอื่นครอบครองแทน เป็นการนำสืบตามประเด็นที่เกิดจากคำร้องคัดค้าน หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นไม่ แม้ว่าผู้คัดค้านอ้างเอกสารหมาย ค.10ค.11ค.15ถึงค.20และ ค.23โดยอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของช. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านได้ความว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ก็ตาม แต่เมื่อตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ปรากฏว่าศาลได้รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้าน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ สำหรับเอกสารหมาย ค.10และค.17 แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ก็ตาม แต่ตามมาตรา 87(2) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่าเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพราะเอกสารหมาย ค.10 เป็นสัญญากู้ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องกับ ช. และผู้ร้องก็ได้นำสืบพยานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวด้วย ส่วนเอกสารหมาย ค.17 เป็นใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2513 ถึงปี 2525 ของ ช.จำนวน13ฉบับซึ่งช.ได้ส่งศาลตามคำสั่งเรียกก่อนวันสืบพยานนัดแรกเป็นเวลากว่า 1 เดือนผู้ร้องจึงมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวก่อนวันสืบพยานได้อยู่แล้วการที่ผู้คัดค้านมิได้ส่งสำเนาให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ร้อง ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้านได้ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านอันดับ 8 ระบุว่า”เอกสารเรื่องราวการจดทะเบียนนิติกรรมตลอดจนบันทึกข้อความ แผนที่หรือถ้อยคำบุคคลใด ๆ หรือหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานราชการ หรือบุคคล หรือเอกสารทุกชนิด ทุกฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับโฉนดที่ดินเลขที่ 906 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดทำและเก็บรักษาไว้ในแฟ้มเรื่องราวของโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวทั้งหมดทุกฉบับ อยู่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ” เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกคำบันทึกของ ส.ช่างแผนที่ที่ได้บันทึกถ้อยคำของ ฮ. ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน2528 คือวันทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 906หน้าโฉนด 156 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารบันทึกถ้อยคำของ ฮ. ไปให้ศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้หมายเอกสารนั้นเป็นเอกสารหมาย ค.49จึงฟังได้ว่าเอกสารหมายค.49เป็นเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอันดับที่ 8 ของผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้คัดค้านได้ระบุอ้างพยานเอกสารฉบับนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา88 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารหมาย ค.49ของผู้คัดค้านไว้เป็นพยานหลักฐานและอนุญาตให้ผู้คัดค้านนำสืบเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารฉบับนี้จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาของผู้ร้องมิได้บรรยายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ในข้อไหน เป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงขึ้นกล่าวให้ชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายกิมหรือจิมและนางจู แซ่เล้า นางจูเป็นบุตรของนายติ๊ดและนางเต่า แซ่แต้นางจูมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือนางจูนายกวย แซ่แต้ นายชั้ว หรือซั่ว แซ่แต้หรือโมรินหรือโมรินทร์และนายเฮง แซ่แต้ เมื่อประมาณปี 2475 นางเต่าซื้อที่ดินบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ 2 งาน ของที่ดินโฉนดเลขที่ 906เลขที่ดิน 18 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ 24 ไร่ 3 งาน และใส่ชื่อนายชั้วเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนางเต่าร่วมกับเจ้าของที่ดินอื่น ๆโดยนางเต่าถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ แต่เมื่อนางเต่าซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว นางเต่าและนายชั้วไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด นายกิมและนางจูได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่นางเต่าซื้อมานั้นด้วยความสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีโดยนางเต่าและนายชั้วไม่เคยเข้ามาขัดขวางหรือเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ต่อมานางเต่ามาอาศัยอยู่กับนายกิมและนางจูแล้วนางเต่าตกลงยกที่ดินที่นางเต่าซื้อนั้นให้แก่นายกิมและนางจู โดยได้มอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้นายกิมและนางจูด้วยนางเต่าอาศัยอยู่กับนายกิมและนางจูประมาณ 15 ปี ก็ถึงแก่กรรมต่อมาก่อนยื่นคำร้องประมาณ 20 ปี นายกิมและนางจูยกที่ดินโฉนดเลขที่ 906 เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ 2 งาน ที่นายกิมและนางจูครอบครองปรปักษ์ภายในเส้นสีแดงและสีเหลืองตามแผนที่สังเขปท้ายคำร้องให้ผู้ร้องโดยมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องด้วย หลังจากนั้นผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่คือที่ดินเฉพาะภายในเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายคำร้องด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีที่ดินดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ส่วนที่ดินภายในเส้นสีเหลืองเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน นั้นผู้ร้องไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์มาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ประสงค์จะเอาที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ต่อมาประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2528 นายนันทวัฒน์นันทนาวัฒน์ บุตรชายผู้ร้องได้รับหนังสือจากหม่อมหลวงประจวบนพวงศ์ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายวรพงศ์ พิชญ์พงศ์ดา(ผู้คัดค้าน) ให้ไปยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 906 ร่วมกับนายวรพงศ์โดยอ้างว่า นายวรพงศ์เป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินดังกล่าวด้วย ผู้ร้องค้นหาโฉนดที่ดินเลขที่ 906 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง ปรากฏว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวหายไป ผู้ร้องไปตรวจสอบโฉนดที่ดินดังกล่าวฉบับของกรมที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ จึงทราบว่านายชั้วได้จดทะเบียนขายที่ดินส่วนของนายชั้วในโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่นายวรพงศ์ไปตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2525 การซื้อขายที่ดินระหว่างนายชั้วและนายวรพงศ์เป็นการสมคบกันจดทะเบียนซื้อขายโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 906 เลขที่ดิน 18 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองเป็นที่ดินของผู้คัดค้าน โดยเป็นที่ดินส่วนหนึ่งในที่ดินจำนวน 16 ไร่ 2 งานซึ่งผู้ร้องซื้อมาจากนายชั้วโดยสุจริตเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2525ตามส่วนที่นายชั้วมีกรรมสิทธิ์ในราคา 1,980,000 บาท ผู้คัดค้านได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาโดยทางนิติกรรม โดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องจะอ้างสิทธิที่มิได้จดทะเบียนมาใช้ยันกับสิทธิของผู้คัดค้านไม่ได้ ก่อนขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน นายชั้วเจ้าของที่ดินเดิมได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ไม่เคยทอดทิ้ง และเมื่อผู้คัดค้านได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายชั้วแล้วก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 906 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ 24 ไร่ 3 งาน เดิมเป็นของนายเมือง สุกไสนายหมา หมุดทำหรือหมุดธรรม และนายมิ สุกไส ที่ดินของนายเมืองมีเนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีน้ำเงินตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ร.8 เนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 94 ตารางวาเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 906 ดังกล่าว และปรากฏตามสารบัญการจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินนั้นว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม2475 นายเมือง สุกไส โอนกรรมสิทธิ์ส่วนของตนให้แก่นายชั้ว แซ่แต้ นายชั้วจึงมีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวร่วมกับนายหมาและนายมิ ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2525 นายชั้วจดทะเบียนโอนขายส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้าน
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องฎีกาเป็นข้อแรกว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางเต่าซื้อที่ดินใส่ชื่อนายชั้วไว้ผู้คัดค้านมิได้ปฏิเสธ ผู้คัดค้านจะนำสืบว่า นายเมืองมอบที่ดินดังกล่าวแก่นายชั้วเป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมเงินไปไม่ได้ นั้นในปัญหานี้ เห็นว่า ผู้คัดค้านได้บรรยายไว้ในคำร้องคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ที่ผู้คัดค้านได้มาทางนิติกรรมโดยซื้อมาจากนายชั้วตามส่วนที่เจ้าของเดิมผู้ขายมีอยู่ นายชั้วเจ้าของเดิมได้บอกขายที่ดินพิพาทก่อนผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทเป็นเวลานาน ผู้คัดค้านจึงได้กล่าวไว้ในคำร้องคัดค้านแล้วว่า นายชั้วเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า นายเมืองมอบที่ดินให้แก่นายชั้วเป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมเงินไปนั้นเป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านจึงนำสืบเช่นนั้นได้
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านกล่าวในคำร้องคัดค้านเพียงว่านายชั้วเจ้าของเดิมได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาไม่เคยทอดทิ้ง ผู้คัดค้านจะนำสืบว่า นายชั้วให้นางจู นายเปาและบุคคลอื่นเช่าที่ดินพิพาทไม่ได้เพราะเป็นการนำสืบนอกประเด็นตามคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านนั้น เห็นว่า การนำสืบว่าผู้คัดค้านได้ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินพิพาทเป็นการนำสืบว่า ผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยให้ผู้อื่นครอบครองแทน การนำสืบของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงเป็นการนำสืบตามประเด็นที่เกิดจากคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านมิใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็น
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านอ้างเอกสารหมาย ค.10 ค.11 ค.15ถึง ค.20 และ ค.23 โดยอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของนายชั้วซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านได้ความว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน จะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองได้รับฟังเอกสารหมายค.11 ค.15 ค.16 ค.18 ถึง ค.20 และ ค.23 เป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้านแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ สำหรับเอกสารหมาย ค.10 และ ค.17นั้น เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย ค.10 และ ค.17ให้ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้และคดีนี้ได้ความว่าเอกสารหมาย ค.10 และ ค.17 เป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ทั้งเอกสารหมาย ค.10 ก็เป็นสัญญากู้ ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องกับนายชั้ว และผู้ร้องก็ได้นำสืบพยานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวด้วย ส่วนเอกสารหมาย ค.17นั้นก็ปรากฏตามเอกสารในสำนวนลำดับที่ 42 ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเรียกพยานเอกสารให้นายชั้วจัดการส่งใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2509 และประจำปี 2514 จนถึงปี 2525ของนายชั้วไปยังศาลชั้นต้น และนายชั้วก็ได้ส่งใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2513 ถึงปี 2525 ของนายชั้วจำนวน 13 ฉบับคือเอกสารหมาย ค.17 ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2528ก่อนวันสืบพยานนัดแรกคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นเวลากว่า1 เดือน ดังปรากฏตามเอกสารในสำนวนลำดับที่ 60 ผู้ร้องจึงมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวก่อนวันสืบพยานได้อยู่แล้ว ที่ผู้คัดค้านมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน นั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ร้องแต่ประการใดที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารหมาย ค.10 และ ค.17เป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเอกสารหมาย ค.49ของผู้คัดค้านไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ และอนุญาตให้ผู้คัดค้านนำสืบเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารหมาย ค.49 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าผู้คัดค้านได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ 5 มิถุนายน 2529ระบุพยานเพิ่มเติม 9 อันดับ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 8โดยระบุพยานอันดับ 8 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวว่า”เอกสารเรื่องราวการจดทะเบียนนิติกรรมตลอดจนบันทึกข้อความแผนที่หรือบันทึกถ้อยคำบุคคลใด ๆ หรือหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานราชการหรือบุคคล หรือเอกสารทุกชนิดทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับโฉนดที่ดินเลขที่ 906 หน้าสำรวจ 156 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย)จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดทำขึ้นและเก็บรักษาไว้ในแฟ้ม เรื่องราวของโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวทั้งหมดทุกฉบับ อยู่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ” และต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2530 ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ โดยได้ระบุเรียกพยานเอกสารดังกล่าวในคำสั่งเรียกพยานเอกสารว่า “คือคำบันทึกของนายสินชัย สุทธิรัตนชัยช่างแผนที่ได้บันทึกถ้อยคำของนายฮ่องเฮง แซ่จัง ฉบับลงวันที่13 พฤศจิกายน 2528 คือวันทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 906 หน้าโฉนด 156 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ 1 ฉบับ” และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารบันทึกถ้อยคำของนายฮ่องเฮง แซ่จังไปให้ศาลชั้นต้นตามคำสั่งเรียกดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นได้หมายเอกสารนั้นเป็นเอกสารหมาย ค.49 จึงฟังได้ว่าเอกสารหมาย ค.49 เป็นเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในพยานอันดับที่ 8 ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 8 ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงได้ระบุอ้างพยานเอกสารดังกล่าวโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารหมาย ค.49ของผู้คัดค้านไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้และอนุญาตให้ผู้คัดค้านนำสืบเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารหมาย ค.49 จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำหรับประเด็นตามฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องฟังได้ว่านายชั้วครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาแล้วได้ให้นางจูช่วยดูแลให้ผู้อื่นเช่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรและสืบสิทธิต่อจากนางจูมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นเงิน 50,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับสูงเกินไป ไม่เหมาะสมนั้น เห็นว่า จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่งโดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและพิจารณาความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายผู้คัดค้านได้ปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนี้แล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความแทนผู้คัดค้านเป็นเงิน 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.5 และ 1.5 ตามลำดับของจำนวนทุนทรัพย์นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “…ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของผู้ร้องไม่มีเหตุซึ่งทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลอุทธรณ์จึงไม่วินิจฉัยให้” ผู้ร้องไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ควรจะหยิบยกอุทธรณ์ของผู้ร้องทุกข้อขึ้นวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของผู้ร้องข้อใด ด้วยเหตุผลอันใด ผู้ร้องจะได้ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ต่อไปได้ ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ด้วย และผู้ร้องขอถือเอาอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น เห็นว่าฎีกาของผู้ร้องมิได้บรรยายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ในข้อไหน ฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงขึ้นกล่าวให้ชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share