แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีก่อน ส. เจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทเป็นโจทก์ฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยโดยมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง ส่วนคดีนี้แม้โจทก์และจำเลยจะเป็นคนละคนกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อนก็ตามแต่โจทก์ได้รับที่พิพาทมาจากโจทก์ในคดีก่อนโจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิ์มาจากโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยคดีนี้ต่างมีหน้าที่ดูแลสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนในประเด็นที่ว่าที่ดินแปลงพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง หรือไม่ และคดีก่อนถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้โจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 64228 ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งโจทก์ซื้อมาจากผู้มีชื่อ ขณะนั้นมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชให้รังวัดออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวของโจทก์โดยอ้างว่า โฉนดที่ดินออกทับที่ดินสาธารณประโยชน์คูขวางบางส่วน อันเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการโดยเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์คูขวางได้แก่เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชและราชพัสดุจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมชี้ระวังแนวเขตรับรองว่าการรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์มิได้รุกล้ำหรือทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง การออกโฉนดที่ดินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 64228 ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางและถนนพัฒนาการคูขวาง และแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.) เลขที่ 183 หมู่ที่ 4 ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่โจทก์นำมาเป็นหลักฐานการขอออกโฉนดที่ดินเป็นฉบับเดียวกับที่นายเส๊ะ ไพรพฤกษ์เจ้าของที่ดินคนเดิมเคยนำมาออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 183 หมู่ที่ 4 ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งหนึ่งแล้ว แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวทั้งฉบับเพราะออกทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์นั้นไม่อาจกระทำได้เพราะโจทก์เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหรือแก้ไขที่ดินโฉนดเลขที่ 64228 ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราชตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.22 บางส่วน คงเหลือเนื้อที่ 12 5/10 ตารางวาแล้วส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เดิมที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 183 หมู่ที่ 4 ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเส๊ะ ไพรพฤกษ์ เจ้าของที่ดินคนเดิมเคยมีคดีพิพาทโดยนายเส๊ะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชอ้างว่าที่ดินพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง และคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483-1487/2528 ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายเส๊ะ แล้วนำมาขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดที่ดินพิพาทออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 84228 ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชเนื้อที่ 3 งาน 69 7/10 ตารางวา มอบให้โจทก์ ต่อมาเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชมีหนังสือให้จำเลยสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเนื่องจากออกทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง จำเลยจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนคือคดีของศาลฎีกาที่ 1483-1487/2528 นายเส๊ะเจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทเป็นโจทก์ฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยโดยมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง ส่วนคดีนี้แม้โจทก์และจำเลยจะเป็นคนละคนกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อนก็ตาม แต่โจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ในคดีก่อน โจทก์คดีนี้จึงเป็นผู้สืบสิทธิมาจากโจทก์ในคดีก่อนส่วนจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยคดีนี้ต่างมีหน้าที่ดูแลสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 คดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนในประเด็นที่ว่าที่ดินแปลงพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ และในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องเป็นว่าที่ดินโฉนดพิพาทคงเหลือเนื้อที่ ตารางวา ให้จำเลยแก้ไขแล้วส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินคืนให้แก่โจทก์นั้นได้ความว่าในคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางคดีนี้โจทก์ได้นำที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 183 ซึ่งเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีก่อนมาขอออกโฉนด จึงเป็นที่ดินแปลงเดียวกันทั้งคดีก่อนและคดีนี้ เมื่อโจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์คูขวางทั้งแปลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวบางส่วนจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้และปัญหาข้อที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น