แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้วพนักงานสอบสวนที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีดังกล่าวคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจตามวรรคสาม (ก) ของมาตราดังกล่าว
คดีนี้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุเกิดในท้องที่ใดแน่ระหว่างอำเภอบัวใหญ่กับอำเภอแก้งสนามนาง แต่จำเลยถูกจับกุมที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่หลายคนเป็นผู้ร่วมจับกุม ดังนั้น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก้งสนามนาง มิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ เมื่อพันตำรวจตรี ว. สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้สรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้แล้วส่งไปพร้อมสำนวน เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91, 33, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาทำและมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่าให้การว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำและมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 3 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้สำหรับความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง และลดโทษให้หนึ่งในสามสำหรับความผิดฐานพยานยามฆ่าผู้อื่น คงจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์อ้างว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุเกิดขึ้นในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอำเภอบัวใหญ่กับอำเภอแก้งสนามนาง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนในท้องที่สองอำเภอมีอำนาจทำการสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ โดยพันตำรวจตรีวิจิตร ปัญญาปรุ พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยในคดีนี้แล้วก็เท่ากับว่ามีการสอบสวนจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 แล้ว ซึ่งรวมถึงมีอำนาจในการทำความเห็นสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตามมาตรา 19 วรรคสอง แต่ตามวรรคสาม (ก) ของมาตราดังกล่าวระบุไว้ชัดว่า พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจสำหรับคดีนี้ปรากฏตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6 ว่า จำเลยถูกจับกุมได้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านโสกน้ำขุ่น หมู่ที่ 8 ตำบลโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมาโดยมีพันตำรวจตรีวิจิตร ปัญญาปรุ สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่กับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่อีกหลายคนเป็นผู้ร่วมจับกุม ฉะนั้น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก้งสนามนางมิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่เมื่อพันตำรวจตรีวิจิตรซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้สรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้แล้วส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน