แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเลื่อนชั้นพนักงานเป็นอำนาจของธนาคารจำเลยผู้เป็นนายจ้างที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควรแก่อัตราตำแหน่งที่มีอยู่ประกอบกับผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องนี้
ประกาศนโยบายการเลื่อนชั้นพนักงานขณะที่เป็นเพียงหนังสือของธนาคารจำเลยถึงผู้จัดการฝ่ายการพนักงาน เพื่อให้ถือเป็นหลักปฏิบัติยังไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่ต่อมาสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อธนาคารจำเลยและได้ตกลงยอมรับเอาประกาศนโยบายฉบับดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับดังนั้นประกาศนโยบายฉบับดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ธนาคารจำเลยประกาศนโยบายการเลื่อนชั้นพนักงานเป็นปี ๆ ไป โดยแต่ละปีมีหลักเกณฑ์และแนวทางแตกต่างกันไป ดังนี้จะนำประกาศนโยบายปีหนึ่งมาใช้บังคับในปีถัดไปหาได้ไม่
กรณีตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 หมายถึง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลบังคับเป็นการทั่ว ๆ ไป มิใช่เป็นข้อตกลงที่มีเจตนาให้ใช้บังคับชั่วระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไปฝ่ายเดียวโดยออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ว่าด้วยการเลื่อนชั้นพนักงานปรากฏตามหนังสือที่ พง.บง. ๒๘๘/๒๕๒๔ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และ ๒๕๒๔ ขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือฉบับดังกล่าว และให้จำเลยเลื่อนชั้นโจทก์ทุกคนพร้อมทั้งจ่ายค่าจ้าง โบนัสและเงินทุนเลี้ยงชีพที่ขาดไปแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การเลื่อนชั้นพนักงานเป็นอำนาจของจำเลยจึงไม่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แม้จะฟังว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างประจำปีนั้นเท่านั้น จะนำมาใช้ในปีอื่น ๆ ไม่ได้ โจทก์ยังขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการเลื่อนชั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้ประกาศนโยบายเลื่อนชั้นพนักงานที่ พง.บง. ๔๙๕/๒๕๒๓ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการที่จะพิจารณาเลื่อนชั้นให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ซึ่งถือได้ว่าการเลื่อนชั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างตามบทนิยาม คำว่า “สภาพการจ้าง” ก็ตาม แต่การเลื่อนชั้นพนักงานย่อมเป็นอำนาจของจำเลยที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควรแก่อัตราตำแหน่งที่มีอยู่ประกอบกับผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างจำเลยและประกาศนโยบายเลื่อนชั้นพนักงานที่ พง.บง. ๔๙๕/๒๕๒๓ นี้ก็เป็นเพียงหนังสือของจำเลยถึงผู้จัดการฝ่ายการพนักงานของจำเลยให้ถือเป็นหลักปฏิบัติเท่านั้น ฉะนั้นลำพังเพียงประกาศดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่ต่อมาอีกประมาณ ๑ เดือนเศษได้มีข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพต่อจำเลยและสามารถตกลงกันยอมรับเอาประกาศนโยบายการเลื่อนชั้นพนักงานที่พง.บง. ๔๙๕/๒๕๒๓ มีผลบังคับระหว่างโจทก์จำเลยด้วย ประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อข้อความในประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางการเลื่อนชั้นพนักงานเฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นตามข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยรับกันปรากฏว่าจำเลยเคยปฏิบัติเกี่ยวกับการเลื่อนชั้นนี้ด้วยการประกาศเป็นปี ๆ ไปและปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาก่อนปี ๒๕๒๐ แล้วประกาศนโยบายการเลื่อนชั้นพักงานแต่ละปีมีหลักเกณฑ์และแนวทางแตกต่างกันจึงเป็นที่เห็นได้ว่าประกาศนโยบายเลื่อนชั้นพนักงานที่ พง.บง. ๔๙๕/๒๕๒๓ มีผลใช้บังคับเฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เท่านั้นส่วนที่ข้อตกลงร่วมระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความว่า “ประกาศคำสั่งและ/หรือระเบียบอื่น ๆ ที่ให้สิทธิแก่พนักงานในส่วนที่ไม่ขัดแย้งกับข้อตกลงร่วมนี้ให้ยังคงมีผลใช้ได้เช่นเดิม” นั้น ย่อมหมายความถึงว่าประกาศดังกล่าวมีผลอย่างไรก็คงให้มีผลอยู่อย่างนั้น ดังนี้เมื่อประกาศดังกล่าวในสภาพเดิมมีผลใช้บังคับเฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ก็ย่อมจะนำมาใช้บังคับในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หาได้ไม่
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อมาว่า ถ้าประกาศนโยบายการเลื่อนชั้นพนักงานที่ พง.บง. ๔๙๕/๒๕๒๓ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีกำหนดใช้บังคับ ๑ ปีเมื่อระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงสิ้นสุดลงและมิได้มีการเจรจากันใหม่ย่อมต้องถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ ๑ ปี ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒ นั้น เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา ๑๒ นี้หมายความถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่ว ๆ ไป มิใช่เป็นข้อตกลงที่มีเจตนาให้ใช้บังคับชั่วระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้เท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นที่เห็นได้ชัดว่าขัดกับสภาพข้อตกลง จึงจะนำเอาประกาศนโยบายเลื่อนชั้นพนักงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๓ มาใช้บังคับในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หาได้ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน