คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้าง ในระหว่างรอรับจำเลยที่ 1 กลับบ้านจำเลยที่ 2 ได้ลอบขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัว แล้วขับรถไปชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างนั้น เพราะจำเลยที่ 2 จะพ้นหน้าที่ขับรถให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อได้รับจำเลยที่ 1 ส่งกลับ นำรถเข้าที่เก็บเรียบร้อยเป็นปกติเช่นที่เคยปฏิบัติทุกวันนั้นแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 2 ยังอยู่ในหน้าที่ขับรถ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะควบคุมดูแลจำเลยที่ 2 ให้เป็นไปตามคำสั่งจำเลยที่ 1 จะอ้างการละเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ และจำเลยที่ 1 จะอ้างบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และมาตรา 583 ซึ่งเป็นบทบัญญัติบังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดของนายจ้างต่อบุคคลภายนอกในมูลละเมิดที่ลูกจ้างกระทำต่อบุคคลภายนอกก็ไม่ได้เช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่ว่าจ้างของจำเลยที่ 1 ชนโจทก์ซึ่งเดินข้ามถนนในทางม้าลายโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกัน ชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์เวทนาทรมาน ค่าเสียสุขภาพอนามัยที่ต้องพิการตลอดชีวิต ค่าขาดประโยชน์ รวมเป็นเงิน 622,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายวันละ 10,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าขาของโจทก์จะหายเป็นปกติ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างและขับรถในทางการที่ว่าจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขับรถไปธุระส่วนตัวของจำเลยที่ 2 โดยมิได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่ง เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของโจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการขับรถในทางการที่จ้างเป็นฟ้องเคลือบคลุม ค่าเสียหายเกินสมควร

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ขับรถประมาทชนโจทก์เป็นการกระทำละเมิด แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในขณะกระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและในระหว่างจำเลยที่ 2 รอรับจำเลยที่ 1 กลับไปบ้าน จำเลยที่ 2 ได้ลอบขับรถไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 เพื่อสอบคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานขับรถตามที่เคยสมัครไว้แล้วเกิดขับไปชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 2 จะพ้นหน้าที่ขับรถให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อได้รับจำเลยที่ 1 ส่งกลับ นำรถเข้าที่เก็บเรียบร้อยเป็นปกติเช่นที่เคยปฏิบัติทุกวันนั้นแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 2 ยังอยู่ในหน้าที่ขับรถจำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะควบคุมดูแลจำเลยที่ 2 ให้เป็นไปตามคำสั่ง จำเลยที่ 1 จะอ้างการละเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดและจำเลยที่ 1 จะอ้างบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และมาตรา 583 ซึ่งเป็นบทบัญญัติบังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อใช้ปฏิเสธความรับผิดของนายจ้างต่อบุคคลภายนอกในมูลละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้อร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

พิพากษายืน

Share