แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจำนองมีข้อความว่า หากเป็นการจำนองเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชี ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยเป็นรายเดือนโดยวิธีคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าเป็นการจำนองเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชีธนาคาร โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้
การคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ผู้กู้ยินยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้ทันทีที่ค้างชำระทุกคราวไปดอกเบี้ยที่ทบเข้านี้ก็กลายเป็นต้นเงินอันผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันและมีกำหนดเวลาชำระอย่างเดียวกันตราบใดที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชียังไม่ยุติลง ดอกเบี้ยที่ค้างชำระจะมีได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น
จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาท ในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เกินจำนวน 100,000 บาทอยู่แล้วจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยทบต้นเพียงต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันทำสัญญาจำนองเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยได้จำนองที่ดินไว้เป็นประกันด้วย ร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยที่ ๑ กู้เบิกเงินเกินบัญชี พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในต้นเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดในดอกเบี้ยไม่เกิน ๕ ปี และต่อสู้ในข้ออื่นอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์ ๒๕๕,๙๑๘.๙๒ บาทพร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดในต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยถ้าไม่ชำระให้บังคับจำนอง
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ ๒๒๒,๓๑๘.๙๔ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ ๒ ได้หรือไม่ และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าห้าปีหรือไม่ดังนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.๙ ข้อ ๒ วรรคสอง มีข้อความว่า”หากการจำนองนี้ จำนองเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชี ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ตามอัตราดังกล่าวในวรรคต้นโดยวิธีคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร” และข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าการจำนองรายนี้ได้จำนองเป็นประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ ๒ ได้ตามข้อสัญญาดังกล่าวและการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ คือต้องส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสิ้นเดือนผู้กู้ยินยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้ทันทีที่ค้างชำระทุกคราวไป และดอกเบี้ยที่ทบเข้านี้ก็กลายเป็นต้นเงินอันผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันและมีกำหนดเวลาชำระอย่างเดียวกันฉะนั้นตราบใดที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชียังไม่ยุติลง ดอกเบี้ยที่ค้างชำระจะมีได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น จึงไม่ขาดอายุความเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ คดีนี้ปรากฏว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ยุติลงเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ฉะนั้นภายในระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ ๒ ได้ในอัตราร้อยละ๑๔ ต่อปีตามสัญญาจำนองไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๘๙ แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เพียงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๐ ตามที่ปรากฏในรายการสุดท้ายของบัญชีเลขที่ ๙๒๕ ของจำเลยที่ ๑ (เอกสารหมาย จ.๑๒) ซึ่งโจทก์ก็พอใจไม่ได้ฎีกาคัดค้านมา ศาลฎีกาจึงเห็นควรให้จำเลยที่ ๒ เสียดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๐ เช่นกัน ต่อจากนั้นจึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๑๔ ต่อปีโดยไม่ทบต้น อนึ่งปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ เพิ่งจดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้รายนี้เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๔ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์เกินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท อยู่แล้ว จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยทบต้นเพียงต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทนับแต่วันทำสัญญาจำนองเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินให้โจทก์ในต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย