คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเพลิงไหม้ โจทก์ยังชำระราคาค่าที่ดินและโรงสีข้าว ให้แก่ผู้ซื้อไม่ครบตามสัญญา ผู้ซื้อจึงยังมิได้จดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและโรงสีข้าวดังกล่าวตั้งแต่วันทำสัญญา ซื้อขายแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในโรงสีข้าวดังกล่าว เมื่อโรงสีข้าวเกิดเพลิงไหม้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์นั้นแล้วตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจ ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้เช่าให้รับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 14,950,000 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องอีกจำนวน 1,115,106.16 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น16,065,106.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 14,950,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของโรงสีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารกรุงไทยจำกัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 6 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 5 เข้าเป็นคู่ความแทนที่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินหนังสือรับรองทำประโยชน์เลขที่ 161กับที่ดินตราจองเลขที่ 1792 ตำบลหนองปลาไหลอำเภอวังทรายพูนจังหวัดพิจิตร รวมเนื้อที่ 118 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือโรงสีข้าว เครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวอาคารโรงเลี้ยงสุกรและบ้านพัก ราคารวมกัน 4,200,000 บาทกับธนาคารกรุงไทยจำกัดทรัพย์สินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยจำกัดได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทสมุทรพาณิชย์ประกันภัยจำกัดในวงเงิน 2,500,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์นำโรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวไปให้โรงสีไฟร่วมเจริญเช่ามีกำหนด5 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531 ได้เกิดเพลิงไหม้โรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมดยกเว้นอาคารที่ทำการโจทก์กับบ้านพักคนงานคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้คดีนี้ โจทก์ยังชำระราคาค่าที่ดินและโรงสีข้าวให้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด ยังไม่ครบตามสัญญา ธนาคารกรุงไทยจำกัด ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและโรงสีข้าว แต่โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและโรงสีข้าวตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายโดยโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งเจ็ดเช่าอาคารโรงสีข้าว เครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวพร้อมทั้งยุ้งฉาง สำนักงาน บ้านพักคนงานซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาจากธนาคารกรุงไทยจำกัดแม้โจทก์จะชำระราคาที่ดินและโรงสีข้าวไม่ครบ แต่เมื่อโจทก์ชำระราคาที่ดินและโรงสีข้าวครบโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามสัญญาโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แม้โรงสีข้าวที่โจทก์ซื้อมาโจทก์จะยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์นั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้เช่าทรัพย์ดังกล่าวให้รับผิดได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7ประการที่สองว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่รับฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้โรงสีข้าวเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรและเมื่อไม่ปรากฎว่าเหตุไฟฟ้าลัดวงจรนั้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลย จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7ประมาทเลินเล่อต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ฟังขึ้นเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ในเรื่องอื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share