แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การถึงความรู้สึกของจิตใจอารมณ์ของตนเองว่าเมื่อแทงผู้เสียหายที่1ตายแล้วก็จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีความวุ่นวายซึ่งพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาพยายามฆ่าตามที่จำเลยให้การไว้ไม่ได้ตั้งข้อหาโดยสรุปเอาเองจึงเป็นการที่จำเลยลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน การที่จำเลยใช้ไขควงที่ฝนจนแหลมเป็นอาวุธแทงไปที่ร่างกายผู้เสียหายที่1เพื่อให้ผิวหนังทะลุอันเป็นการเล็งเห็นผลว่าถึงตายได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะจิตใจที่ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่นผู้เสียหายที่1เป็นเพศที่อ่อนแอว่าไม่ได้เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อนและไม่มีทางที่จะต่อสู้ชนะได้จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธประทุษร้ายผู้หญิงการใช้อาวุธที่ไม่ได้ป้องกันตัวเองย่อมมุ่งต่อผลคือชีวิตทั้งอายุของจำเลยในขณะที่กระทำความผิดนั้นสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้ไม่ได้มีจิตใจบกพร่องจำเลยสร้างภยันตรายให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนเองมิใช่เกิดจากความตื่นเต้นความตกใจหรือความกลัวอันจะทำให้เห็นว่าจำเลยมีเพียงเจตนาทำร้ายตามที่ฎีกาจำเลยจะแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาฆ่าหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 295, 91
จำเลยให้การรับว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองจริงแต่ปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานทำร้ายร่างกาย ประกอบคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยในความผิดตามมาตรา 295 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือนและลดโทษให้ในความผิดตามมาตรา 288, 80 หนึ่งในสาม คงจำคุก6 ปี 8 เดือน ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 รวมจำคุก 7 ปี 2 เดือน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ จำเลยให้การรับแล้วว่า จำเลยได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 จริง ขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสองได้บัญญัติความรับผิดในทางอาญาว่า กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้นำสืบถึงเหตุในการใช้ไขควงเป็นอาวุธแทงผู้เสียหายที่ 1 เพียงว่า จำเลยได้โต้เถียงทะเลาะกับผู้เสียหายที่ 1 ระหว่างโต้เถียงกันจำเลยเกิดโมโหจึงใช้ไขควงซึ่งเสียบอยู่ที่ข้างฝาบ้านแทงไปกี่ครั้งจำไม่ได้ แทงที่ใดบ้างจำไม่ได้ แทงแล้วถูกที่ใดบ้างก็จำไม่ได้ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ได้เบิกความให้เหตุผลในการที่ถูกจำเลยใช้ไขควงแทงว่าขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ยืนหันหน้าเข้าหากัน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 บอกเลิกอยู่กินฉันสามีภริยา จำเลยก็แทงด้วยไขควงหลายครั้งขณะผู้เสียหายที่ 1 หันหลัง ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกเจ็บจึงได้ผลักจำเลย จำเลยพยายามจะแทงข้างหน้าอีก ผู้เสียหายที่ 1 ปัดป้องจึงถูกแทงที่แขน ผู้เสียหายที่ 1 ร้องให้คนช่วยเหลือแล้ววิ่งหนีออกไปทางหน้าบ้านผู้เสียหายที่ 1 ล้มลงในบ้าน ผู้เสียหายที่ 2เข้ามาขวางจำเลยแล้วร้องห้าม ผู้เสียหายที่ 1 ลุกขึ้นได้ก็วิ่งหนีออกจากบ้าน ผู้เสียหายที่ 2 เป็นมารดาผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ร้องขอความช่วยเหลือแล้ว ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนีมาล้มที่หน้าผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2ยืนอยู่ไม่ได้มีเจตนาเข้าขวางจำเลยผู้เสียหายที่ 1 ล้มแล้วลุกขึ้นวิ่งหนีออกจากบ้านไป ผู้เสียหายที่ 2 ตะโกนว่า อะไรกันจำเลยก็แทงผู้เสียหายที่ 2 ถูกที่บริเวณต้นแขนด้านซ้าย แล้วจำเลยวิ่งตามผู้เสียหายที่ 1 ไป สักครู่หนึ่งจำเลยย้อนกลับเข้ามาที่บ้านผู้เสียหายที่ 2 เกรงว่าจะถูกจำเลยทำร้ายจึงออกจากบ้านร้องเรียกให้คนช่วย ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 นั้นนายมาโนช สุคนพาทิพย์ แพทย์ผู้ชันสูตรบาดแผลเบิกความว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลด้านหลัง 2 แห่ง แผลที่กลางหลังยาว 1เซนติเมตร ลึก 1 เซนติเมตร ต้องเย็บ 3 เข็ม แผลที่หลังด้านขวายาว2 เซนติเมตร ลึก 0.3 เซนติเมตร เย็บ 3 เข็ม แผลต้นแขนขวา2 แห่ง ยาว 1.5 เซนติเมตร ลึก 1 เซนติเมตร เย็บ 4 เข็มและยาว 1 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร เย็บ 3 เข็มส่วนบาดแผลไม่อาจทำให้ตายได้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้บาดแผลไม่อาจทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ตายได้ แต่บาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1ได้รับจากการกระทำของจำเลยเกิดจากจิตใจของจำเลยที่มีเจตนาและในชั้นสอบสวนทั้งที่จำเลยมีสิทธิจะให้การอย่างไรก็ได้ แต่จำเลยก็ยังให้การรับต่อพนักงานสอบสวนถึงความรู้สึกของจิตใจอารมณ์ของจำเลยในขณะนั้นไว้ว่า เมื่อแทงผู้เสียหายที่ 1 ตายแล้วก็จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีความวุ่นวาย จำเลยกระทำความผิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 ได้ให้การวันถูกจับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 ซึ่งร้อยตำรวจเอกพิชิตเพ็ญสูตร์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ที่ตั้งข้อหาพยายามฆ่าเพราะจำเลยให้การไว้เองเช่นนั้นพยานไม่ได้ตั้งข้อหาโดยสรุปเอาเอง จึงเป็นการที่จำเลยลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานศาลฎีกาเห็นว่า การใช้อาวุธของจำเลยย่อมมุ่งต่อผลคือชีวิตและย่อมเล็งเห็นผลของการใช้อาวุธมีคม ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยเคยเอาไขควงมาฝนจนแหลมและบอกว่า หากแทงคนก็อาจถึงตายได้ การที่จำเลยใช้อาวุธแทงไปที่ร่างกายเพื่อให้ผิวหนังทะลุอันเป็นการเล็งเห็นผลว่าถึงตายได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายที่ 1 ที่ได้รับผลร้าย เหตุใดจำเลยจึงไม่ใช่แต่มือเปล่าอันจะแสดงออกว่าชั่งใจพอสมควรแก่เหตุเหตุใดจึงไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ การที่จำเลยมีเจตนาใช้อาวุธที่เป็นเหล็กไขควงเหล็กแทงเพื่อให้ผิวหนังทะลุอันแสดงลักษณะจิตใจที่ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่น ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่าเลือดไหลออกมามากต้องไปโรงพยาบาลให้แพทย์เย็บ พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำโดยใช้ไขควงเป็นอาวุธทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ไม่ได้เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อนและไม่มีทางที่จะต่อสู้ชนะได้ กรณีของจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธประทุษร้ายผู้หญิงการใช้อาวุธที่ไม่ได้ป้องกันตัวเองย่อมมุ่งต่อผลคือชีวิต จำเลยจะแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาฆ่าหาได้ไม่ ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่าจำเลยแทงข้างหลังแล้วจำเลยพยายามแทงข้างหน้าอีกแต่ผู้เสียหายที่ 1 ปัดป้องจึงถูกแทงที่แขน แม้ผู้เสียหายที่ 1วิ่งหนีแล้วผู้เสียหายที่ 2 พยานโจทก์ผู้ถูกจำเลยแทงด้วยก็ว่า จำเลยยังวิ่งตามผู้เสียหายที่ 1 ไปและกรณีไม่มีความจำเป็นต้องแทงผู้เสียหายที่ 2 ด้วย อายุของจำเลยในขณะที่กระทำความผิดนั้นสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้ ไม่ได้มีจิตใจบกพร่อง จำเลยสร้างภยันตรายให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนเอง เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดจากความตื่นเต้นความตกใจหรือความกลัวอันจะทำให้ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมีเพียงเจตนาทำร้ายตามที่ฎีกาเพื่อจะได้รับโทษน้อยลง โดยพฤติการณ์และเหตุผลแห่งคดีคำจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 นั้น ยังไม่พอฟังหักล้างพยานโจทก์ได้พยานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสองให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง สำหรับดุลพินิจในการลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยในความผิดตามมาตรา 288, 80กึ่งหนึ่ง จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 5 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2