คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำหนัก 15 บาท ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจับเหรียญรัชกาลที่ 5 ที่ห้อยอยู่ที่สร้อยคอทองคำไว้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งตีจำเลย จำเลยลาก ผู้เสียหายไป 3 ถึง 4 ก้าว จนผู้เสียหายล้มลง จำเลยใช้มือ กดหน้าอกผู้เสียหายพร้อมกับกระชากสร้อยคอทองคำผู้เสียหาย แล้วจำเลยวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป แม้ไม่ปรากฏ ว่าขณะจำเลยกระชากสร้อยคอทองคำผู้เสียหาย และผู้เสียหาย จับเหรียญรัชกาลที่ 5 ที่ห้อยอยู่ที่สร้อยคอทองคำนั้น จำเลยได้พูดขู่เข็ญว่า ทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายก็ตาม แต่การที่จำเลยลากผู้เสียหายโดยเร็วและแรงมาก โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว และทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ กรณี ถือได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) เพื่อให้ความสะดวกแก่การกระชาก สร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย การกระทำ ของจำเลยเป็นความผิด ฐานชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339 วรรคหนึ่ง หลังจากจำเลยกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแล้วจำเลยวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 100 เมตร แล้วขับหลบหนีไปการนำรถจักรยานยนต์ไปจอดห่างมาก เช่นนั้นเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาเพียงใช้ รถจักรยานยนต์ของกลางไปและกลับจากการกระทำความผิด และเพื่อหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกรวดเร็วเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะพึงริบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 339, 340 ตรี ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำหรือใช้ราคา 87,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ทวิ ประกอบมาตรา 334 จำคุก 4 ปี 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 3 เดือนให้จำเลยชำระราคาสร้อยคอทองคำจำนวน 77,000 บาทแก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ราคาสร้อยคอทองคำที่เหลืออีก 67,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 เวลาประมาณ11 นาฬิกา จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำหนัก 15 บาทราคา 87,000 บาท ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจับเหรียญรัชกาลที่ 5 ที่ห้อยอยู่ที่สร้อยคอทองคำไว้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งตีจำเลย จำเลยลากผู้เสียหายไป 3 ถึง 4 ก้าว จนผู้เสียหายล้มลง จำเลยใช้มือกดหน้าอกผู้เสียหายพร้อมกับกระชากสร้อยคอทองคำผู้เสียหาย แล้วจำเลยวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 4 ม – 9295 ซึ่งจอดอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ขับหลบหนีไป เห็นว่า เมื่อจำเลยกระชากสร้อยคอทองคำผู้เสียหาย และผู้เสียหายจับเหรียญรัชกาลที่ 5ที่ห้อยอยู่ที่สร้อยคอทองคำนั้น แม้ไม่ปรากฏว่าขณะนั้นจำเลยได้พูดขู่เข็ญว่า ทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแต่การที่จำเลยลากผู้เสียหายไป 3 ถึง 4 ก้าว จนผู้เสียหายล้มลงแล้วจำเลยยังใช้มือกดหน้าอกผู้เสียหายไว้อีกพฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า จำเลยลากผู้เสียหายโดยเร็วและแรงมาก โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ถือได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) เพื่อให้ความสะดวกแก่การกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่าหลังจากกระชากสร้อยคอทองคำแล้วจำเลยวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 100 เมตร การนำรถจักรยานยนต์ไปจอดห่างมากเช่นนั้นเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาเพียงใช้รถจักรยานยนต์ของกลางไปและกลับจากการกระทำความผิด และเพื่อหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกรวดเร็วเท่านั้น ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share