คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) เมื่อปรากฏว่า สัญญากู้เงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธินั้น มีเรื่องที่แท้จริงรวมกันอยู่ 2 เรื่อง คือ มีหนังสือสัญญากู้เงิน 1 มีบันทึกการชำระหนี้เงินกู้รายนี้บางส่วน 1 แต่จำเลยได้ลบบันทึกนั้นออกก็เพื่อให้โจทก์หรือศาลหลงเชื่อว่า เอกสารสิทธิมีหนังสือสัญญากู้เงินเพียงเรื่องเดียวซึ่งแสดงว่าไม่เคยผ่อนชำระหนี้กันเลย การกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสาที่แท้จริง เป็นผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
(2) แม้จำเลยจะยังมิได้นำสืบ แต่ได้แสดงพยานหลักฐานเท็จต่อศาลแล้ว โดยส่งเอกสาร(หมาย จ.1) ซึ่งเดิมมีอยู่ 2 หลักฐาน แต่จำเลยส่งแสดงว่ามีหลักฐานเดียวย่อมเป็นการแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลตามมาตรา 180 แล้ว
(3) การปลอมเอกสารซึ่งอยู่ในความยึดถือของจำเลยนั้น ย่อมมีโอกาสทำได้ในที่ลับ เป็นการยากที่จะมีประจักษ์พยาน ฉะนั้น พยานประพฤติเหตุบ่งว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารไม่ผิดตัว ก็ฟังลงโทษจำเลยได้
(4) เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้นำพยานสืบแก้ฟ้องโจทก์แล้ว ยังอ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อตรวจพิสูจน์เอกสารที่โจทก์อ้างไว้ว่ามีรอยลอยอากรแสตมป์ และมีรอยลบข้อความบางประการออกหรือไม่ ซึ่งข้อความที่จะนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญนี้ พยานจำเลยไม่ได้เบิกความมาก่อนเลย และโจทก์ก็ไม่รู้ว่าจำเลยจะนำสืบประเด็นเช่นนี้ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจให้โจทก์นำสืบแก้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 วรรค 3
หมายเหตุ หมายเลข(1) วินิจฉัย โดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2508

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยบังอาจสมคบกันทำผิดกฎหมาย คือ โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ ๑ ไป ๔,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ชำระต้นเงินให้จำเลยที่ ๑ ไปแล้ว ๒,๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้บันทึกในช่องว่างของสัญญาข้อ ๔ – ๕ ว่า ได้ชำระต้นเงินกู้แล้วสองพันห้าร้อยบาทตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๐๐ จำเลยที่ ๑ ลงชื่อไว้ โจทก์เขียนว่าชำระแล้วและลงชื่อโจทก์ไว้ต่อมาจำเลยที่ ๒ รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษเรียกต้นเงิน ๔,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ย โดยคัดสำเนาหนังสือสัญญากู้แนบท้ายฟ้องด้วย ก่อนโจทก์ยื่นคำให้การจำเลยได้ร่วมกันส่งสัญญากู้ต่อศาลครั้นวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๑ จำเลยที่ ๒ ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสัญญากู้และเบิกความต่อศาลว่าไม่เคยมีการขีดเขียนข้อความใด ๆ ลงในระหว่างข้อ ๔ – ๕ ของสัญญาศาลจังหวัดศรีสะเกษและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้ยาลบหมึกลบข้อความบันทึกการชำระเงินซึ่งเขียนไว้ในสัญญากู้ออก พิพากษาให้โจทก์ใช้ต้นเงิน ๑,๕๐๐ บาท ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ ๑๑๐/๒๕๐๑ ทั้งนี้ โดยจำเลยได้ร่วมกันหรือร่วมกับผู้อื่นปลอมแปลงเอกสารหนังสือสัญญากู้และปลอมหลักฐานเอกสารชำระเงิน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ
โดยจำเลยสมคบกันเอายาลบหมึกลบข้อความเกี่ยวกับการชำระเงินซึ่งจำเลยที่ ๑ บันทึกไว้และลบข้อความและลายมือชื่อโจทก์ออก โดยเอาอากรแสตมป์ปิดทับรอยลบนั้นเสียแล้วเอาสัญญากู้ฟ้องเรียกเงิน ๔,๐๐๐ บาทจากโจทก์การกระทำของจำเลยเป็นการตัดทอนหรือแก้ไขข้อความในเอกสารสิทธิอันแท้จริง โดยเจตนาทุจริต และน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดศรีสะเกษหลงเชื่อว่าสัญญากู้ตามฟ้องเป็นสัญญาก็เงินที่มีต้นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ระหว่างวันที่ ๑๓ ถึง ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๑ เวลากลางวัน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยส่งสัญญากู้ที่แท้จริง จำเลยทั้งสองสมคบกันใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม โดยส่งสัญญากู้ซึ่งปลอมแล้วต่อศาลเป็นพยาน ต่อมาโจทก์เบิกความเท็จต่อศาลว่า ไม่เคยขีดเขียนข้อความใด ๆ ลงไป ซึ่งความจริงมีการบันทึกชำระต้นเงิน ๒,๕๐๐ บาทและจำเลยได้สมคบกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดีแพ่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑, ๙๑, ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมกันหรือร่วมกับผู้อื่นทำการปลอมแปลงเอกสาร แล้วร่วมกันใช้โดยรู้ว่าปลอมแปลง แสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในข้อสำคัญในการพิจารณาคดี ผิดมาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๕ บทหนัก จำคุกคนละ ๑ ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ – ๒ ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย และปัญหาขอเท็จจริง โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้พิจารณาคดีนี้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
จำเลยที่ ๒ ตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๑) คงพิจารณาพิพากษาเฉพาะจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ นั้น ถ้าโจทก์ฟ้องและนำสืบปรากฏการลบบันทึกชำระหนี้ในเอกสารหมาย จ.๑ เมื่อไม่อาจจะปรับเอาเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร (บันทึกชำระหนี้) ทั้งฉบับหรือปลอมส่วนหนึ่งส่วนใดของเอกสาร (สัญญากู้) ได้ เพราะเป็นเอกสารสิทธิต่างฉบับกันแล้ว ก็ต้องพิจารณาตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าจะปรับเข้ากับการ “ฯลฯ ตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง ฯลฯ” อันเป็นผิดฐานปลอมเอกสารเช่นกัน ดังมาตรา ๒๖๔ บัญญัติไว้ เป็นกรรมหนึ่งองค์ความผิดหนึ่งอีกหรือไม่
เอกสารหมาย จ.๑ มีเอกสารสิทธิที่แท้จริงอยู่ ๒ เรื่อง คือ หนังสือสัญญากู้เงินกับการบันทึกการชำระหนี้เงินกู้รายนี้บางส่วนเกี่ยวพันกัน ถ้าจำเลยลบบันทึกชำระหนี้ออกจากเอกสารหมาย จ.๑ เอกสารหมาย จ.๑ ก็จะมีหนังสือสัญญากู้อันเป็นเอกสารแท้จริงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว การที่จำเลยลบบันทึกชำระหนี้ออกเพื้อให้โจทก์หรือศาลจังหวัดศรีสะเกษหลงเชื่อว่าเอกสารหมาย จ.๑ มีหนังสือสัญญากู้เงินเพียงเรื่องเดียว ซึ่งไม่เคยผ่อนชำระหนี้กันเลย เป็นการตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยลบบันทึกการชำระเงินในเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งแท้จริงมี ๒ เรื่อง ให้หลงเชื่อว่ามีเพียงเรื่องเดียว เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔
ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔, ๒๖๕ ศาลจะลงโทษตามมาตรา ๑๘๘ ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง และโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และจะลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา ๒๖๘ ก็ไม่ได้เพราะจำเลยไม่ได้ปลอมเอกสาร ศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะฎีกาข้อเหล่านี้ตกไปโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๐ ไม่ได้ เพราะจำเลยมิได้นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยยังมิได้นำสืบ แต่ก็ได้แสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลแล้ว คือส่งเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งเดิมมี ๒ หลักฐาน จำเลยส่งแสดงว่ามีหลักฐานเดียว จึงเป็นการแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๑๘๐ แล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ข้อ ๓, ๖, ๘ เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๐, ๒๖๔ ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว และจำเลยก็นำสืบต่อสู้ได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานรู้เห็นว่าจำเลยปลอมเอกสาร ศาลฎีกาเห็นว่า การปลอมเอกสารซึ่งอยู่ในความยึดถือของจำเลย ย่อมมีโอกาสทำได้ในที่ลับเป็นการยากที่จะมีประจักษ์พยาน โจทก์จึงมีแต่พยานประพฤติเหตุบ่งว่าจำเลยเป็นผู้ปลอม ไม่ผิดตัว ย่อมฟังลงโทษจำเลยได้

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคำเบิกความของนายธงชัยต่อเหตุเป็นพิรุธฟังไม่ได้ เท่ากับเอาคำพยานจำเลยมาลงโทษจำเลย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้ทำเช่นนั้นหากแต่ฟังว่า ข้อแก้ตัวของจำเลยที่มีนายธงชัยเป็นพยานนั้น ฟังเป็นความจริงไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำพยานเข้าสืบแก้พยานจำเลยอีกครั้งหนึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยปลอมเอกสาร จำเลยปฏิเสธ เมื่อโจทก์สืบพยานในประเด็นจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารแล้ว จำเลยก็นำพยานเข้าสืบแก้แล้วอ้างผู้เชี่ยวชาญนี้ พยานจำเลยไม่ได้เบิกความถึงมาก่อนเลย และโจทก์ก็ไม่รู้ว่าจำเลยจะนำสืบประเด็นเช่นนี้ ศาลชั้นต้นอาศัยความยุติธรรมให้โจทก์นำสืบแก้ประเด็นที่จำเลยขอให้ตรวจพิสูจน์เอกสาร ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจทำได้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๘๙ วรรค ๓ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕ เป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ
ส่วนฎีกาจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงทุกแง่ทุกมุมประกอบด้วยเหตุผลอันมั่นคงแน่นแฟ้น ฟังเป็นยุติมานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนในคดีส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑

Share