คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญากู้เงินมีความว่า ” จำนวนเงินที่ข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าสัญญาจะชำระให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ให้กู้จะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ” และผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ” ถ้าผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินที่ได้กู้ไปตามคำสั่งของผู้ให้กู้ ข้าพเจ้ายอมรับใช้ให้ทั้งสิ้น ” ดังนี้กำหนด 6 เดือนที่ว่าไว้นั้นไม่ใช่เด็ดขาด แต่ผู้ให้กู้อาจสั่งเป็นอย่างอื่นได้ และการค้ำประกันก็เป็นไปทางยอมค้ำประกันตามอำนาจของผู้กู้ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ต่อไป และผู้ให้กู้ยอม ก็ตามผู้ค้ำประกันก็ยังไม่หลุดพ้นจากการค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายจำลอง ดาวเรืองสามีจำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไป ๓๐๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ถึงกำหนดแล้วไม่ชำระและบัดนี้นายจำลองตายแล้ว จึงขอให้จำเลยทั้ง ๒ ใช้เงินกู้และดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฎว่า นายจำลองกู้เงินโจทก์มีข้อความในสัญญาข้อ ๓ ว่า ” จำนวนเงินที่ข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าสัญญาจะชำระให้เสร็จภายใน ๖ เดือน นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป เว้นแต่บริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (โจทก์) จะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น” และจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อความว่า ” ถ้านายจำลอง ดาวเรือง ผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินที่ได้กู้ไปเป็นจำนวนเงินไม่เกิน ๓๐๐๐๐ บาทตามคำสั่งของบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (โจทก์) ข้าพเจ้ายอมรับใช้ทั้งสิ้น ” ดังนี้จะเห็นได้ว่ากำหนด ๖ เดือนที่ว่าไว้นั้นไม่ใช่เด็ดขาด แต่โจทก์อาจสั่งเป็นอย่างอื่นได้ และการค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นไปในทางยอมค้ำประกันตามอำนาจของโจทก์นี้ด้วย ฉะนั้นการที่นายประสิทธิไปขอผัดผ่อนแทนนายจำลอง หากเป็นจริงก็ดี การที่โจทก์มีหนังสือหมาย ล.๒ ถึงนายจำลอง ก็ดีไม่มีทางจะคิดว่าเป็นการผ่อนเวลา อันจะทำให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นจากการค้ำประกันเลย จึงพิพากษายืน

Share