แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 10 วรรคแรก กำหนดสิทธิของลูกจ้างว่าถ้าได้ทำงานมาครบหนึ่งปีเต็มก็จะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อยหกวันทำงานและสิทธินี้เป็นสิทธิแต่ละปี เมื่อลูกจ้างทำงานครบปีแรกแล้ว ถ้าได้หยุดพักผ่อนประจำปีก็ถือว่าเป็นการหยุดพักผ่อนประจำปีของปีที่ผ่านมา และในปีต่อไปถือว่าลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ทันทีโดยไม่ต้องทำงานให้ครบปีอีก
โจทก์แต่ละคนทำงานกับจำเลยเป็นเวลาเกิน 3 ปีแล้ว โจทก์บางคนได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีงบประมาณ 2526 ไปแล้ว ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปีงบประมาณ 2527 ซึ่งโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2526 นั้นโจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 2 พฤศจิกายน 2526 โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีงบประมาณ 2527จำนวน 6 วัน ให้แก่โจทก์แต่ละคนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45
ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเมื่อถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าครองชีพซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2526 และมีคำขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2526 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยุบเลิกกิจการและเลิกจ้าง จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธ จึงต้องถือว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนพฤศจิกายนนั้นในวันเลิกจ้างดังกล่าวในฟ้อง เมื่อจำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างของโรงงานประสอบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดของจำเลย จำเลยได้จ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ทุกคนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมาโดยนำมารวมจ่ายเป็นค่าจ้างหรือเงินเดือน ต่อมาวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เลิกกิจการโรงงานกระสอบ และได้เลิกจ้างโจทก์ทุกคนตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ โดยได้จ่ายบำเหน็จตามข้อบังคับโรงงานกระสอบตามเอกสารท้ายคำฟ้องให้แก่โจทก์ แต่มิได้นำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณบำเหน็จให้โดยอ้างว่ามิใช่เงินเดือน ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้เงินบำเหน็จของโจทก์ต้องขาดไป และเมื่อเลิกจ้างจำเลยได้จ่ายเงินเดือนเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๖ ซึ่งถือเป็นเงินเดือนที่โจทก์ทำงานอยู่อีก ๑ เดือนกันสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก ๑ เดือนรวมเป็น ๒ เดือนหรือ ๒ งวดค่าจ้างโดยจำเลยมิได้นำเอาค่าครองชีพมารวมจ่ายให้ด้วย การเลิกจ้างนี้เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีของปีงบประมาณ ๒๕๒๖ ซึ่งยังมิได้มีการใช้สิทธิ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้อีกด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินเดือนของเดือนพฤศจิกายนค้างจ่ายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกกิจการและเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าตามข้อบังคับโรงงานกระสอบ ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ เงินเดือนไม่รวมถึงเงินตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นจึงไม่รวมถึงค่าครองชีพด้วย ค่าครองชีพจึงไม่อาจนำมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จได้ โจทก์มีสิทธิรับบำเหน็จตามข้อ ๑๑ ของข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวมิใช่ข้อ ๑๐ และจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้เกินจำนวนที่ต่างมีสิทธิได้รับไปแล้ว สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น คำว่า สินจ้างไม่รวมถึงค่าครองชีพด้วย เพราะค่าครองชีพเป็นเงินที่จ่ายโดยไม่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการทำงาน ไม่อาจนำมาคำนวณเพื่อจ่ายเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นโจทก์มีสิทธิหยุดตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๖ โดยไม่ต้องรอถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นปีงบประมาณ ๒๕๒๗ โจทก์มีสิทธิเก็บวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๒๗ ได้ แต่ไม่มีสิทธิเบิกเงินค่าทดแทนได้ตามประกาศโรงงานทอกระสอบ กระทรวงการคลัง เรื่อง การลาพักผ่อน โจทก์บางคนได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปีมาแล้ว จึงต้องหักวันลาหยุดดังกล่าวออกไป ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงบางประการ ศาลแรงงานกลางให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค้าจ้างต้องนำมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จ จำเลยค้างชำระค่าครองชีพประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๖ และต้องนำค่าครองชีพมาคำนวณเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวนคนละ ๖ วันแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ เงินค่าครองชีพเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๖สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์แต่ละคนตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ มีความหมายว่า เมื่อลูกจ้างทำงานจนครบหนึ่งปีแล้วสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีก็เกิดขึ้นซึ่งย่อมใช้เฉพาะผู้ที่ทำงานในปีแรกเท่านั้น ส่วนโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดทำงานเกินสามปีแล้วจำเลยก็ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนได้ทันทีโดยไม่ต้องทำงานจนครบหนึ่งปีอีกและต่างก็ได้ใช้สทิธิหยุดพักผ่อนไปแล้วตามบัญชีหมายเลข ๔ ท้ายคำให้การเห็นว่า ตามข้อ ๑๐ วรรคแรกของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน นั้นได้กำหนดสิทธิของลูกจ้างว่า ถ้าได้ทำงานมาครบหนึ่งปีเต็มก็จะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อยหกวันทำงาน และสิทธินี้เป็นสิทธิแต่ละปี เมื่อลูกจ้างทำงานครบปีแรกแล้ว ถ้าได้หยุดพักผ่อนประจำปีก็ถือว่าเป็นการหยุดพักผ่อนประจำปีของปีที่ผ่านมา และในปีต่อไปถือว่าลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ทันทีโดยไม่จำต้องทำงานให้ครบอีก ดังนั้น เมื่อต่อมาวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ได้มีการเลิกจ้าง โจทก์ที่ยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ ๔๕ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ปรากฏว่าโจทก์ได้ยอมรับว่า ในระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๕ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๒๖ โจทก์ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามเอกสารหมายเลข ๔ ท้ายคำให้การ โจทก์แต่ละคนทำงานกับจำเลยเป็นเวลาเกิน ๓ ปีแล้ว วันลาหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์บางคนตามเอกสารหมายเลข ๔ ท้ายคำให้การนั้นเห็นได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีงบประมาณ ๒๕๒๖ ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปีงบประมาณ ๒๕๒๗ ซึ่งโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนตั้งแต่วันที่๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ นั้นโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีงบประมาณ ๒๕๒๗ จำนวน ๖ วันให้แก่โจทก์แต่ละคนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๕
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเมื่อจำเลยยุบเลิกกิจการโรงงานกระสอบและเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันยุบเลิกกิจการเป็นต้นไป พิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดฟ้องและมีคำขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยุบเลิกกิจการและเลิกจ้าง เห็นว่า ค่าจ้างค้างจ่ายนั้นเป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเมื่อถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าครองชีพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๖และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธจึงต้องถือว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนพฤศจิกายนดังกล่าวในวันเลิกจ้างคือวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ เมื่อจำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จเพิ่มให้แก่โจทก์ทุกคนนอกจากโจทก์ที่ ๓๒ คงให้จำเลยจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นเงิน ๒,๔๕๔ บาท ๑๕ สตางค์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเงินค่าครองชีพเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๖ ให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเอ็ดนับตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง