คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคำนวณลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเกี่ยวกับลักษณะโทษนั้น ต้องถือกำหนดโทษที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาแต่เมื่อกำหนดโทษตามคำพิพากษาได้ลดลงตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ คงเหลือเท่าใดแล้ว กำหนดโทษที่เหลืออยู่นั้น ก็ต้องถือเป็นกำหนดโทษหรือเกณฑ์ของโทษที่จะต้องรับอาญาต่อไป ถ้ามีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษต่อมาให้ลดโทษ ก็จะลดโทษจากกำหนดโทษซึ่งได้ลดมาจากคราวก่อน และคงเหลืออยู่นั้นจะถือตามโทษเดิมคงที่อยู่ไม่ได้เพราะได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ย่อยาว

เดิมจำเลยต้องคำพิพากษาเด็ดขาด ให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน ครั้นวันที่ 26 มกราคม 2491 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 ครั้ง รวม 3 ปี 8 เดือน 25 วัน จำเลยได้ถูกจำคุกมาจนถึงวันที่ 17 มกราคม 2491 เป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน 5 วัน จำเลยควรได้รับการปลดปล่อยตัวในวันที่ 18 มกราคม 2491 แต่ทางเรือนจำหาปล่อยจำเลยไม่ จึงขอให้ศาลออกหมายสั่งปล่อย ศาลชั้นต้นได้นัดโจทก์ จำเลยและผู้บัญชาการเรือนจำมาสอบถาม แล้ววินิจฉัยว่าการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละครั้ง จึงต้องคิดจากกำหนดโทษเดิมตามคำพิพากษาทุกครั้ง ไม่ใช่คิดจากโทษที่ยังเหลือจากการอภัยโทษครั้งที่แล้ว ๆ มา และเห็นว่าหลักฐานที่ปรากฏเป็นที่พอใจศาลว่าการจำคุกจำเลยนั้น ถึงวันที่ 17 มกราคม 2491 ก็ครบกำหนดตามคำพิพากษาแล้ว จึงให้สั่งปล่อยจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 วรรคท้าย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การลดโทษครั้งหลัง ๆ ต้องคิดลดจากโทษที่ได้ลดลงแล้ว และคงเหลืออยู่จากการคิดครั้งก่อน จึงพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยให้ดำเนินการบังคับบัญชา ลดโทษและลงโทษจำเลยตามหลักเกณฑ์ที่กรมราชทัณฑ์วางไว้

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การคำนวณการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเกี่ยวกับลักษณะโทษนั้น ต้องถือกำหนดโทษที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา แต่เมื่อกำหนดโทษตามคำพิพากษาได้ลดลงตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ คงเหลือเท่าใดแล้ว กำหนดโทษที่เหลืออยู่นั้น ก็ต้องถือเป็นกำหนดโทษหรือเกณฑ์ของโทษที่จะต้องรับอาญาต่อไป ถ้ามีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษต่อมาให้ลดโทษก็จะต้องลดโทษจากกำหนดโทษซึ่งได้ลดมาจากคราวก่อน และคงเหลืออยู่นั้นจะถือตามโทษเดิมคงที่อยู่ไม่ได้ เพราะได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

พิพากษายืน

Share