แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานตรวจบัตร ฉบับลงวันที่ 11 มกราคม 2526 ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 ข้อ 1 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ กำหนดให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หัวหน้าเขต หรือผู้รักษาราชการแทน ปลัดอำเภอ หรือเจ้าพนักงานปกครอง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขตนั้น ๆ ปรากฏว่า ฉ. มิใช่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ตามประกาศดังกล่าว ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า ฉ. เป็นเจ้าหน้าที่อำเภอเขมราฐ ทำหน้าที่เสมียนปกครองและเป็นผู้ช่วยงานปลัดอำเภอ หาได้บรรยายว่าเป็นเจ้าพนักงานปกครองไม่ ฉ. จึงมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๑๓๗, ๑๔๘, ๑๕๗, ๑๖๒, ๒๖๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๗ อันเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ เดือน จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ เดือน ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ อีกด้วย และเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อนายฉลาด ประชุมแดง เจ้าหน้าที่อำเภอเขมราฐ ทำหน้าที่เสมียนปกครองและเป็นผู้ช่วยงานปลัดอำเภอเพื่อบันทึกรายละเอียดในคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ โดยจำเลยที่ ๑ แจ้งว่าตนถือสัญชาติไทย และแสดงหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านฉบับที่ได้รับมาจากจำเลยที่ ๒ เป็นเหตุให้นายฉลาด ประชุมแดง จดข้อความอันเป็นเท็จตามที่จำเลยที่ ๑ แจ้งลงในบันทึกคำให้การขอทำบัตรกรณีบัตรหายหรือไม่ขอมีบัตรภายในกำหนด เห็นว่า พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๒๓ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานออกบัตรเจ้าพนักงานตรวจบัตรและพนักงานเจ้าหน้าที่ และมาตรา ๒๐ บัญญัติว่าให้บรรดาประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนี้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานตรวจบัตร ฉบับลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๖ ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๐๕ ข้อ ๑ ซึ่งกำหนดให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หัวหน้าเขต หรือผู้รักษาราชการแทน ปลัดอำเภอ หรือเจ้าพนักงานปกครอง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขตนั้น ๆ จึงยังคงใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ปรากฏว่านายฉลาด ประชุมแดง มิใช่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ตามประกาศดังกล่าว ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่านายฉลาด ประชุมแดง เป็นเจ้าหน้าที่อำเภอเขมราฐ ทำหน้าที่เสมียนปกครองและเป็นผู้ช่วยงานปลัดอำเภอ หาได้บรรยายว่าเป็นเจ้าพนักงานปกครองไม่ นายฉลาด ประชุมแดง จึงมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ ที่โจทก์ฎีกา แม้นายฉลาดเป็นเสมียนปกครองแต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง ๑ ( ทำหน้าที่ช่างภาพอำเภอ) เป็นผู้ช่วยปลัดอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้ามีหน้าที่เกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนทั้งหมด เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง ไม่อาจรับฟังมาเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายได้ ที่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายฉลาด ประชุมแดง ซึ่งมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ ดังกล่าวแล้วการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน