คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกัน ส. ในตำแหน่งคอมปราโดร์ส. ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยฟ้อง ส. ล้มละลาย ต่อมาจำเลยถอน คำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้น ดังนี้ เป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้จาก ส.ผู้ล้มละลายเท่านั้น มิใช่หนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 698 อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด คู่ความท้ากัน ขอให้ศาลชี้ขาดประเด็นเดียวว่าการที่จำเลยถอนคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยในคดีล้มละลาย ทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อจำเลยหรือไม่ปรากฏตามคำแถลงของคู่ความในรายงานกระบวนพิจารณาว่า เรื่องค่าเสียหายและดอกเบี้ย ให้ศาลพิจารณาให้ตามคำฟ้องและคำให้การดังนี้ ศาลต้องพิจารณาตามประเด็นจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ดอกเบี้ยที่จำเลยฟ้องแย้งเกิน 5 ปี จึงมีประเด็นเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 166.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนการจำนอง ที่จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันนายไสว เลิศไพรวัน ทำงานในตำแหน่งคอมปราโดร์ ธนาคารจำเลย และให้คืนโฉนดให้โจทก์ทั้งสองกับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายไสว เลศไพรวัน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดทำให้จำเลยเสียหายเป็นเงินกว่าสิบล้านบาท จำเลยมีสิทธิไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ถอนการจำนองขอให้ศาลยกฟ้อง และให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองไม่ผิดสัญญาจำนอง จำเลยคิดดอกเบี้ยเกิน 5 ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คู่ความได้แถลงตกลงท้ากันให้ศาลชี้ขาดประเด็นเดียวโดยไม่สืบพยานบุคคล เพียงขอให้ศาลเรียกเอกสารตามที่ระบุไว้มาประกอบดุลพินิจในการวินิจฉัยประเด้นตามคำท้า โดยให้ศาลพิจารณาตามคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความ ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า มารดาโจทก์ที่ 1 และตัวโจทก์ที่ 2 ได้จำนองที่ดินเพื่อค้ำประกันความเสียหายที่นายไสวเลิศไพรวัน ก่อขึ้นในการที่นายไสวเป็นคอมปราโดร์ของธนาคารจำเลยสาขาตลาดพลู ตอมานายไสวทำงานบกพร่องเป็นเหตุให้เป็นหนี้จำเลยเกือบสองล้านบาท จำเลยจึงฟ้องนายไสวเป็นคดีล้มละลายหมายเลขคดีดำที่ ล.111/2514 หมายเลขคดีแดงที่ ล.4/2515 ศาลสั่งพิทักษ์ทรัยพ์นายไสว เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2515 จำเลยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ต่อมานายไสวขอประนามหนี้ก่อนล้มละลาย ศาลสั่งเมื่อวันที่19 กันยายน 2517 เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ และในวันที่ 11 เมษายน2518 จำเลยขอถอนคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัยพ์อนุญาตให้ถอนคำขอรับชำระหนี้และจำหน่ายจากบัญชี ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัยพ์แบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายให้เจ้าหนี้รายอื่นและขอปิดคดีศาลมีคำสั่งให้ปิดคดี
คู่ความท้ากันให้ศาลชี้ขาดประเด็นเดียวว่า การถอนคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.5/2515จะทำให้มารดาโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อธนาคารจำเลยต่อไปหรือไม่ถ้าศาลชี้ขาดในประเด็นนี้แล้ว ถือเป็นข้อแพ้ชนะในคดีนี้ทั้งหมดส่วนเรื่องค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้องและฟ้องแย้ง ให้ศาลพิจารณาตามคำฟ้องและคำให้การ
พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นแรกที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การถอนคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยในคดีล้มละลายที่นายไสวลูกหนี้ถูกฟ้องทำให้เจ้ามรดกคือมารดาโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันนายไสวหลุดพ้นจากความรับผิดต่อจำเลยตามนัยมาตรา 27 และ 91แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้น เห็นว่าจริงอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27 และ91 มีความหมายรวมเป็นในความว่า เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้จะต้องขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดสองเดือนนับจากวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้รายนั้นจากลูกหนี้ และกรณีนี้นายไสวลูกหนี้ได้ถูกฟ้องคดีล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เคยยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว แต่ต่อมาได้ถอนคำขอดังกล่าวเสีย เท่ากับว่าไม่เคยมีการขอรับชำระหนี้และเวลาก็ได้ล่วงเลย 2 เดือนไปแล้ว ย่อมเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้รายนี้จากนายไสว ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ก็เป็นการหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้จากลูกหนี้ มิใช่เป็นการที่หนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ฉะนั้น มารดาโจทก์ที่ 1กับโจทก์ที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดต่อจำเลยอยู่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองแพ้คดีตามคำท้าศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยเกิน 5 ปี เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าตามคำท้าระหว่างโจทก์จำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่14 กันยายน 2517 ว่า ” คู่ความแถลงต่อไปว่า สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามคำฟ้องและคำให้การและฟ้องแย้ง ให้ศาลพิจารณาให้ตามคำฟ้องและคำให้การ” ฉะนั้น สำหรับดอกเบี้ยนั้นจะเรียกได้เพียงใดหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาตามเนื้อหาหรือประเด็นจากคำฟ้องและคำให้การ มิใช่จะต้องให้เต็มตามที่เรียกร้องมาในคำฟ้องหรือฟ้องแย้งไปเลย โดยดอกเบี้ยที่จำเลยฟ้องเรียกจากโจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ทั้งสองได้ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ดอกเบี้ยที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกเกิน 5 ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกได้ จึงมีประเด็นเรื่องอายุความที่จะพิจารณา ซึ่งปรากฏว่าจำเลยฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 1 จากเงินต้น 100,000 บาท ในอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2504 ถึงวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งคือ วันที่ 5 เมษายน 2527 เรียกจากโจทก์ที่ 2 จากเงินต้น260,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม2505 ถึงวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง คือ 5 เมษายน 2527 แสดงว่าดอกเบี้ยค้างจ่ายของโจทก์ทั้งสองที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 เมษายน2522 นั้น จำเลยมิได้ฟ้องในกำหนดอายุความ 5 ปี คดีจำเลยจึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จำเลยเรียกไม่ได้คงเรียกได้เฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้งย้อนหลังไป 5 ปีซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 75,000 บาท จากโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 195,000 บาท สำหรับดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 นี้จำเลยฟ้องแย้งเรียกเพียง 191,794 บาท 52 สตางค์ จึงพิพากษาให้ตามที่ขอได้ ส่วนดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ 75,041 บาท 09 สตางค์ ตามที่จำเลยขอไม่ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 ชำระดอกเบี้ย 75,000 บาทแก่จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share