คำสั่งคำร้องที่ 2434/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า คดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2535(ที่ถูกน่าจะ 1 มิถุนายน 2535) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องจำเลยที่ 2 เห็นว่าตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2530มีผลให้จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใด ๆ มาก่อนจึงเพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ ขอศาลฎีกาได้โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลล่างทั้งสองโดยออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่ ให้มีโทษจำคุก 12 ปี แทน
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
คดีสืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่าจำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 12 ปี ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามคดีหมายเลขแดงที่ 6110/2528 ของ ศาลอาญาธนบุรี จำเลยที่ 2 พ้นโทษดังกล่าวแล้วกลับมากระทำ ความผิดคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 อีกกึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 18 ปี คดีถึงที่สุด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535ขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาโดยไม่เพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 2อ้างว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและผิดหลงศาลชั้นต้นสั่งว่าศาลไม่อาจดำเนินการให้ได้ตามคำร้องของ จำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 โต้แย้งเรื่องอัตราโทษของศาลอุทธรณ์ก็ควรที่จะฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาแก้ไข จึงให้ยกคำร้อง (อันดับ 107)
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นเบิกตัวจำเลยที่ 2 มาสอบถามแล้ว จำเลยที่ 2 แถลงยืนยันตามคำร้องและ ขอให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องส่งต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป(อันดับ 111,112)

คำสั่ง
คดีนี้ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์มีกำหนด 12 ปี และเพิ่มโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เพราะเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 6110/2528 ของศาลชั้นต้นอีกกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 18 ปี จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่ได้เพราะระหว่างที่จำเลยต้องโทษนั้นได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 ออกใช้บังคับ ขอให้ศาลฎีกาแก้ไขโทษจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 12 ปี และออกหมายจำคุกถึงที่สุดให้ด้วย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาค้ดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียงแต่ยื่นคำร้องดังกล่าวเท่านั้นศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขโทษจำคุกและออกหมายจำคุกถึงที่สุดตามคำร้องของ จำเลยที่ 2 ได้ จึงให้ยกคำร้อง

Share