คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่โดยกล่าวถึงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ และบรรยายถึงเหตุแห่งข้อหาคือโจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าอันทำให้สัญญาเช่าระงับไปแล้วแต่จำเลยทั้งสองก็ยังครอบครองอาคารพิพาทของโจทก์อยู่โดยไม่มีสิทธิ โจทก์หาจำต้องกล่าวให้ละเอียดว่า จำเลยที่ 1 เริ่มเช่าอาคารพิพาทจากใคร ตั้งแต่เมื่อใด มีหลักฐานการเช่าหรือไม่ข้อตกลงในการเช่ามีอย่างไร และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเมื่อใดไม่เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ดังนี้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายดรุณวิสุทธาจาร เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารพาณิชย์เลขที่ 72 ถนนรถไฟ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยโจทก์ได้ซื้ออาคารดังกล่าวจากนายบุญเยี่ยมรัตนกุล เมื่อปี 2502 ในราคา 60,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นบิดาจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้เช่าอาคารดังกล่าวจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2530 โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเช่าอาคารต่อไป จึงได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบอาคารคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดค่าเสียหายนับตั้งแต่เลิกสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,600 บาท ปัจจุบันอาคารดังกล่าวโจทก์สามารถนำออกให้บุคคลภายนอกเช่าได้ในอัตราเดือนละ 3,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากอาคารดังกล่าว และส่งมอบคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 7,600 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากอาคารดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยกล่าวอ้างแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เช่าอาคารของโจทก์ในอัตราเช่าเดือนละ2,000 บาท โดยมิได้แสดงให้ชัดว่าจำเลยที่ 1 เช่าอาคารจากผู้ใดตั้งแต่เมื่อไร และการเช่ามีหลักฐานหรือไม่ ทั้งมิได้แสดงให้เห็นรายละเอียดของข้อตกลง ระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดการเช่า
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์ เลขที่ 72 ถนนรถไฟ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลาจังหวัดยะลา และส่งมอบอาคารดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,600 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมายที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เท่านั้น ในปัญหาดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทซึ่งปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยทั้งสองได้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ ค่าเช่าครั้งหลังสุดเดือนละ 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2530 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบอาคารพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวถึงสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เช่าอาคารพิพาทจากโจทก์และบรรยายถึงเหตุแห่งข้อหา คือโจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าอันทำให้สัญญาเช่าระงับไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็ยังครอบครองอาคารพิพาทของโจทก์อยู่โดยไม่มีสิทธิ ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายโดยชัดแจ้งแล้ว โจทก์หาจำต้องกล่าวให้ละเอียดไปถึงว่าจำเลยที่ 1 เริ่มเช่าอาคารพิพาทจากใคร ตั้งแต่เมื่อใด มีหลักฐานการเช่าหรือไม่ข้อตกลงในการเช่ามีอย่างไรและสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังที่จำเลยทั้งสองให้การไม่ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม…”
พิพากษายืน.

Share