คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) กับโจทก์ต้องทำการด้วยตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 808 ประกอบกับข้อสัญญาข้อ 8 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วง ดังนั้นการตั้งตัวแทนช่วงให้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทน แม้โจทก์ทราบเรื่องแล้วไม่ทักท้วง ก็เป็นเพียงการให้สัตยาบันต่อการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้นิติกรรมการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของตัวแทนช่วงซึ่งไม่ผูกพันโจทก์กลับเป็นผูกพันโจทก์โดยตรง และทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 แต่ในระหว่างตัวการตัวแทนด้วยกัน จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจการที่ตนได้กระทำนอกเหนือขอบอำนาจนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 812 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุตัวแทนช่วงเป็นผู้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.มาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมจะทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าประกันภัยจากการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันถึง 2 ครั้ง เพราะโจทก์มีหนังสือแจ้งตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ให้ส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายให้แก่โจทก์โดยตรง เป็นทำนองตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยส่วนนี้แล้วนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์จัดส่งหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่ทำเรื่องขอเบิกจ่าย และยังมีตารางกรมธรรม์ประกันภัยค้างอยู่กับฝ่ายจำเลย 147,157 ชุด จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า ตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่เบิกมาอยู่ที่ตัวแทนช่วงทั้งหมด มิได้อยู่ที่จำเลยที่ 1 แม้แต่ฉบับเดียว ตามคำเบิกความของ น. พยานโจทก์ การเบิกตารางกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องตรวจสอบว่าไม่มีหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระ แต่ในรอบขายเดือน ก.ค. และเดือน ส.ค. 2551 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามเช็คธนาคารพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2,155,704.18 บาท โจทก์คงไม่จัดส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 อย่างแน่นอน โดยฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่นำส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์ รวม 147,157 ชุด
ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในค่าเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญา ข้อ 6.2 ที่ให้ตัวแทนต้องชำระค่าเสียหายกรณีหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสูญหาย เสียหาย ชำรุดใช้การไม่ได้ หรือไม่สามารถส่งคือให้แก่โจทก์ได้เป็นเงินชุดละ 300 บาท เป็นค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนช่วงหรือทีมขายของจำเลยที่ 1 ได้นำตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ไม่ส่งคืนไปขาย หรือมีลูกค้ารายใดเรียกร้องให้โจทก์รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ พ.ร.บ. ดังกล่าว และโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากยังไม่มีการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงินชุดละ 50 บาท นั้น สูงเกินไป เห็นสมควรลดลงเป็นจำนวนพอสมควรกับแนวทางปฏิบัติของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่คิดค่ายกเลิกตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. และค่าปรับตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ชำรุด ชุดละ 20 บาท จำนวน 147,157 ชุด เป็นเงิน 2,943,140 บาท
สัญญาที่โจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ระบุจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ติดต่อเบิกหน้ากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปขาย และนำส่งค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมสำเนาหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ขายได้หรือส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังขาดไม่ได้ให้แก่โจทก์ หากผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่โจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาอันเดียว ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 804 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถให้โจทก์แยกต่างหากจากกัน ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า ในการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. จำเลยที่ 2 มีตัวแทนช่วงหรือทีมงานรับกรมธรรม์ พ.ร.บ. ไปขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขายเอง แต่เมื่อตัวแทนหรือทีมงานขายได้จะส่งสำเนากรมธรรม์และค่าเบี้ยประกันภัยให้จำเลยที่ 2 รวบรวมส่งต่อให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ตามลำดับโดยจำเลยที่ 2 ได้รับค่าใช้จ่ายด้วย ตามพฤติการณ์ถือว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนร่วมกันผูกพันตนในอันที่จะขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ให้แก่โจทก์ เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำหน้าที่ตัวแทน จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 297

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 46,703,284.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ.พร้อมเอกสารประกอบกรมธรรม์ 147,157 ชุด หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาชุดละ 300 บาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,758,330.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มิถุนายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการขยายงานภาคใต้ของโจทก์ ตามคำสั่ง ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2548 โจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ. โดยตกลงให้จำเลยทั้งสองติดต่อเบิกหน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ไปขาย และรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยนำส่งให้โจทก์พร้อมสำเนาตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ขายได้ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ขาย หรือภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัยไปจากโจทก์ ถ้าขายไม่ได้ให้ส่งหน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. คืนโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เบิกเอกสาร หากไม่สามารถส่งคืนแก่โจทก์ได้ไม่ว่าด้วยกรณีใดจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเสียหายเป็นเงินชุดละ 300 บาท ตามสัญญาข้อตกลงเป็นตัวแทนขายประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 เบิกหน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. พร้อมเอกสารประกอบกรมธรรม์ไปขายและนำส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์หมุนเวียนกันหลายครั้ง ในรอบบัญชีเดือนกันยายน 2551จำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) จำนวน 25 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,155,704.18 บาท ให้โจทก์เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายได้ของเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2551 เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์มีคำสั่งลงวันที่ 9 กันยายน 2551 ให้ระงับการเบิกจ่ายหน้ากรมธรรม์ พ.ร.บ. แก่จำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 1 หยุดรับประกันภัยโดยสิ้นเชิง กับยกเลิกตำแหน่งผู้อำนวยการขยายงานภาคใต้ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป ตามคำสั่ง ต่อมาโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลแขวงสงขลาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 เดือน รวม 25 กระทง จำคุก 25 เดือนแต่จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยตามเช็คดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยมาชำระครบถ้วนโจทก์จึงถอนคำร้องทุกข์ หนี้ที่โจทก์ฟ้องในส่วนของค่าเบี้ยประกันภัยตามเช็ค 2,155,704.18 บาท จึงระงับสิ้นไป
มีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติม 400,480.13 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. กับโจทก์ ย่อมต้องทำการด้วยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 808 ประกอบกับสัญญา กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงได้ ดังนี้ การตั้งตัวแทนช่วงให้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจของตัวแทน แม้โจทก์ทราบเรื่องแล้วไม่ทักท้วง ทั้งยังรับเอาการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของตัวแทนช่วงดังกล่าวไว้ในกิจการของโจทก์ ก็เป็นเพียงการให้สัตยาบันต่อการกระทำนอกเหนืออำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้นิติกรรมการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของตัวแทนช่วงซึ่งไม่ผูกพันโจทก์กลับเป็นผูกพันโจทก์โดยตรง และทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 แต่ในระหว่างตัวการตัวแทนด้วยกันจำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจการที่ตนได้กระทำนอกเหนือขอบอำนาจนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 812 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุตัวแทนช่วงเป็นผู้ขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. มาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หากจำเลยที่ 1ต้องรับผิดเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติมจะทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันถึง 2 ครั้ง เพราะโจทก์มีหนังสือแจ้งตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ให้ส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายได้แก่โจทก์โดยตรง เป็นทำนองตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยส่วนนี้แล้วนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ขายเพิ่มเติม 400,480.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายที่ไม่สามารถส่งมอบคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยเพียงใดในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จัดส่งหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยที่ 1 ตามที่ทำเรื่องขอเบิกจ่าย และยังมีตารางกรมธรรม์ประกันภัยค้างอยู่กับฝ่ายจำเลย 147,157 ชุด จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกากว่า ตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่เบิกมาอยู่ที่ตัวแทนช่วงทั้งหมด มิได้อยู่ที่จำเลยที่ 1 แม้แต่ฉบับเดียว และตามคำเบิกความของนางสาวนันทิยา พยานโจทก์ การเบิกหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยจะต้องตรวจสอบว่าไม่มีหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระ แต่ในรอบขายเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2551 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2,155,704.18 บาท โจทก์คงไม่จัดส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโดยฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่นำส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์รวม 147,157 ชุดส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในค่าเสียหายเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ตามตัวอย่างกรมธรรม์ หน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ทุกฉบับมีการลงลายมือชื่อของกรรมการและผู้รับมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ไว้ครบถ้วน เมื่อจำเลยทั้งสองหรือตัวแทนช่วงหรือทีมขายของจำเลยทั้งสองนำไปกรอกข้อมูลลงในช่องว่างหน้าตารางกรมธรรม์จะมีผลคุ้มครองทันที เพื่อป้องกันความเสียหาย โจทก์จึงกำหนดเงื่อนไขความรับผิดในกรณีไม่สามารถส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ตามสัญญา เป็นเงินชุดละ 300 บาท โดยรวมค่าอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้นทุนการพิมพ์ และการเสี่ยงภัยหากตัวแทนนำกรมธรรม์ พ.ร.บ. ไปขายแก่ลูกค้าแล้วไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่ไม่สูงเกินความเป็นจริง
ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ค่าพิมพ์ตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ของโจทก์มีต้นทุนอย่างสูงไม่เกินชุดละ 3.50 บาท ทั้งไม่ได้มีการขายตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ค้างส่งคืน 147,157 ชุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ชุดละ 50 บาท จึงสูงเกินสมควร เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญา ที่ให้ตัวแทนต้องชำระค่าเสียหายกรณีหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสูญหายเสียหาย ชำรุดใช้การไม่ได้ หรือไม่สามารถส่งคืนให้แก่โจทก์ได้เป็นเงินชุดละ 300 บาท เป็นการตกลงค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาด เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนช่วงหรือทีมขายของจำเลยที่ 1 ได้นำตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ไม่ส่งคืนไปขาย หรือมีลูกค้ารายใดเรียกร้องให้โจทก์รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ พ.ร.บ. ดังกล่าว และโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากยังไม่มีการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดค่าเสียหายตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงินชุดละ 50 บาท นั้น สูงเกินไปเห็นสมควรลดลงเป็นจำนวนพอสมควรเท่ากับแนวทางปฏิบัติของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่คิดค่ายกเลิกตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. และค่าปรับตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. ชำรุด ชุดละ 20 บาท รวม 147,157 ชุด เป็นเงิน 2,943,140 บาท ฎีกาในข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาข้อสุดท้ายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ตกลงแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ติดต่อเบิกหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปขาย และนำส่งค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมสำเนาหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ขายได้ หรือส่งคืนหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังขายไม่ได้ให้แก่โจทก์หากผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่โจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาอันเดียวตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 804 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้ จำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายประกันภัยรถให้โจทก์แยกต่างหากจากกัน ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า ในการขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. จำเลยที่ 2 มีตัวแทนช่วงหรือทีมงานรับกรมธรรม์ พ.ร.บ. ไปขายให้แก่ลูกค้าโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายเอง แต่เมื่อตัวแทนหรือทีมงานขายได้จะส่งสำเนากรมธรรม์และค่าเบี้ยประกันภัยให้จำเลยที่ 2 รวบรวมส่งต่อให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับค่าใช้จ่ายด้วย ตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนร่วมกันผูกพันตนในอันที่จะขายกรมธรรม์ พ.ร.บ. ให้แก่โจทก์ เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำหน้าที่ตัวแทน จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดเช่นอย่างเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 297 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าสัญญามิได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกัน และจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเบิกหน้าตารางกรมธรรม์ พ.ร.บ. จากโจทก์ไปขายโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมดำเนินการด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,343,620.13 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มิถุนายน 2552)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share