คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหาวางแผนและดำเนินการเปลี่ยนตัวจำเลยโดยติดต่อว่าจ้างว. ให้รับโทษจำคุกแทนจำเลยการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามป.วิ.พ.มาตรา31(1).

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 8 เดือน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2527 จากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลมอบจำเลยให้ตำรวจประจำศาลรับไปควบคุมและในวันเดียวกันนั้นเองนายดาบตำรวจอานันต์ พรหมรินทร์ ตำรวจประจำศาลรายงานต่อศาลว่าผู้ที่ตนรับตัวไปควบคุมสงสัยว่าจะไม่ใช่จำเลย ศาลจึงเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบถาม ผู้ต้องสงสัยรับว่าตนคือนายวิโรจน์ ทิพย์โพธิ์ไม่ใช่จำเลย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วได้ความว่า เมื่อศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 3 ประจำศาลจังหวัดแพร่ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้ติดต่อว่าจ้างนายวิโรจน์ให้รับโทษจำคุกแทนจำเลยหากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กำหนดวิธีการเปลี่ยนตัวจำเลยโดยให้นายวิโรจน์แต่งกายเหมือนจำเลยไปนั่งรออยู่นอกห้องพิจารณา เมื่อจำเลยเดินออกจากห้องพิจารณาหลังจากฟังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ให้นายวิโรจน์เข้าไปสมทบกับพวกจำเลยเดินลงบันไดไปชั้นล่าง แล้วให้จำเลยเดินลงไปจากศาล ส่วนนายวิโรจน์ให้เดินไปเข้าห้องขังศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลมีคำสั่งว่าอาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 15 ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 2 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานศาลทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและดำเนินการเพื่อให้เป็น ไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ในกรณีที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย ก็ชอบที่จะมอบจำเลยให้ตำรวจประจำศาลรับไปควบคุมเพื่อดำเนินการบังคับคดีลงโทษจำเลยตามคำพิพากษา แต่แล้วผู้ถูกกล่าวหากลับวางแผนและดำเนินการให้เปลี่ยนตัวจำเลย เพื่อไม่ให้จำเลยต้องได้รับโทษจำคุกเช่นนี้เป็นการการะทำที่ไม่สำนึกในหน้าที่และไม่มีความยำเกรงต่อศาลจึงไม่มีเหตุอันควรปราณี ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
พิพากษา”.

Share