คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว แต่การที่จำเลยจะใช้อาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นต้องได้รับการตรวจสอบและใบรับรองให้ใช้อาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน การที่จำเลยยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารแต่กลับเข้าใช้อาคารจึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม ฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคารซึ่งเป็นเจตนากระทำผิดกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการเข้าใช้ในกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง หรือเข้าใช้เพื่อกิจการอื่นต่างจากที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่
จำเลยใช้อาคารดำเนินกิจการโรงแรมซึ่งเป็นอาคารควบคุมการใช้เช่นเดียวกับที่จำเลยใช้เพื่อดำเนินกิจการพาณิชยกรรมตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32(1)(2)แต่การจะเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรม ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนตามมาตรา 33 วรรคสอง เมื่อจำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนจึงเป็นการฝ่าฝืนใช้อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรมไปใช้เพื่อกิจการอื่น อันเป็นความผิดตามมาตรา 32 วรรคท้าย และมาตรา 33 วรรคสองอีกกระทงหนึ่ง
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร และฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารฯ เป็นความผิดหลายกรรมแยกต่างหากจากกันได้ แม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะแจ้งคำสั่งให้ระงับการใช้อาคารทั้งสองลักษณะให้จำเลยทราบพร้อมกันและจำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งในขณะเดียวกันก็ตาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุในใบอนุญาตจำคุก2 เดือน ปรับ 40,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ที่ให้ปรับจำเลยอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องจึงเป็นการไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้ทำการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความสูง 7 ชั้น 1 หลัง ที่ถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยและหอพัก อันเป็นอาคารเพื่อกิจการพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามใบอนุญาตเลขที่ 181/2539 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2539 ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ตรวจสอบอาคารในวันเดียวกันแล้วจนถึงวันที่ 4 ธันวาคม2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ ได้ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจการค้าและบริการของจำเลย โดยจำเลยยังไม่ได้รับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ให้ใช้อาคารดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์2540 เจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคารของจำเลย นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นต้นไปโดยได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมอันเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยยังคงใช้อาคารเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจการค้าและบริการของจำเลยโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ให้ใช้อาคารโดยออกใบรับรองการใช้อาคารให้แก่จำเลยต่อไปอีก ในระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา เป็นเวลารวม293 วัน โดยจำเลยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ให้กระทำได้ตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับเมื่อระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2540 ภายหลังจากจำเลยก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นที่พักอาศัยและหอพัก อันเป็นอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้แล้วได้ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานที่ประกอบกิจการโรงแรมของจำเลย โดยใช้ชื่อว่าโรงแรมสุวรรณกิตต์อันเป็นกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ให้เปลี่ยนประเภทการใช้อาคารเป็นการใช้สำหรับเป็นโรงแรมและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ให้กระทำได้ตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 เจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคารของจำเลยนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับแจ้งคำสั่งเป็นต้นไป โดยได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมอันเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยยังคงใช้อาคารเป็นสถานที่ประกอบกิจการโรงแรมของจำเลยโดยใช้ชื่อว่าโรงแรมสุวรรณกิตต์ โดยยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ให้เปลี่ยนประเภทการใช้อาคารเป็นการใช้สำหรับเป็นโรงแรมต่อไปอีกในระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา เป็นเวลารวม 293 วัน และยังคงฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง โดยจำเลยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ให้กระทำได้ตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลป่าตันอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 32, 33, 44, 47, 47 ทวิ, 65, 67, 69, 70 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 58, 91 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4647/2540ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ และปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสามและวรรคท้าย, 33 (ที่ถูก 33 วรรคสอง), 44, 65, 67,70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้อาคารโดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคาร(ที่ถูก ฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร) จำคุก2 เดือน ปรับ 40,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง (ที่ถูก ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร) จำคุก 4 เดือน ปรับ 60,000 บาท และปรับวันละ 200 บาท เป็นเวลา293 วัน เป็นเงิน 58,600 บาท รวมปรับ 118,600 บาท ฐานใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 2 เดือนปรับ 40,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งในการเปลี่ยนประเภทการใช้อาคาร (ที่ถูก ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง) จำคุก 4 เดือน ปรับ60,000 บาท และปรับวันละ 200 บาท เป็นเวลา 293 วัน เป็นเงิน 58,600 บาท รวมปรับ118,600 บาท รวมเป็นจำคุก 12 เดือน ปรับ 317,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก6 เดือน ปรับ 158,600 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และปรับจำเลยวันละ 200 บาท ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานใช้อาคารโดยไม่มีใบรับรองให้ใช้อาคาร (ที่ถูก ฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคาร)ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 (ที่ถูกมาตรา 32วรรคสาม), 65 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 70 ปรับวันละ 2,000 บาท นับแต่วันที่28 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อีกสถานหนึ่ง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานให้ปรับกระทงละ 4,000 บาท ต่อวัน รวมสองกระทงเป็นปรับวันละ 8,000 บาท นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง ฐานใช้อาคารโดยไม่ได้รับรองให้ใช้อาคารคงปรับวันละ 1,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานคงปรับกระทงละ2,000 บาท ต่อวัน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำผิดของจำเลยในความผิดข้อหาที่ 1 ฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคารกับข้อหาที่ 3 ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และความผิดข้อหาที่ 2 ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร กับข้อหาที่ 4 ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารฯ ต่างเป็นการกระทำซึ่งมีเจตนาประสงค์ต่อผลอันเดียวกันคือการใช้อาคารอันเป็นการต่อเนื่องในคราวเดียวโดยไม่ขาดตอน เพราะในระยะเวลาตั้งแต่จำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 และจนถึงวันฟ้อง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดเป็นกรรมใหม่ขึ้นมาเลยประกอบทั้งการกระทำดังกล่าวมิได้เป็นการกระทำผิดในกฎหมายบทที่เป็นเหตุเพิ่มโทษหรือเหตุฉกรรจ์ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทที่ต้องใช้กฎหมายซึ่งมีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า แม้อาคารที่เป็นมูลเหตุแห่งการกระทำผิดของจำเลยจะเป็นอาคารหลังเดียวกับที่จำเลยได้ขออนุญาตก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ตาม แต่ในการที่จำเลยจะใช้อาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบและใบรับรองให้ใช้อาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน เพื่อที่จะได้ทราบว่าได้ก่อสร้างถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้ขออนุญาตก่อสร้างและอาคารมั่นคงปลอดภัยในการที่จะเข้าใช้อาคารหรือไม่ การที่จำเลยยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารแต่จำเลยกลับเข้าใช้อาคารเช่นนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม ฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารซึ่งเป็นเจตนากระทำผิดกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วโดยไม่ต้องคำนึงการที่จำเลยเข้าใช้อาคารที่ไม่ได้ใบรับรองนั้นจะเป็นการเข้าใช้ในกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง หรือเข้าใช้เพื่อกิจการอื่นต่างจากที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่ ส่วนการที่จำเลยเข้าใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นต่างไปจากที่ได้ขออนุญาตก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น แม้ในการใช้อาคารดังกล่าวจำเลยใช้ดำเนินกิจการโรงแรม ซึ่งเป็นอาคารควบคุมการใช้เช่นเดียวกับที่จำเลยใช้เพื่อดำเนินกิจการพาณิชยกรรมตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32(1)(2)ก็ตาม แต่ในการที่จะเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรม จำเลยต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนแล้วตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 33 วรรคสอง เมื่อจำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนเช่นนี้ จึงเห็นได้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะฝ่าฝืนใช้อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรมไปใช้อาคารเพื่อกิจการอื่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคท้าย และมาตรา 33 วรรคสอง ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหาก ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำผิดของจำเลยฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคาร และฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตฯ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้นชอบแล้วสำหรับความผิดข้อหาที่ 2 ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร และความผิดข้อหาที่ 4 ฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารฯ นั้น แม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่จะได้แจ้งคำสั่งให้ระงับการใช้อาคารทั้งสองลักษณะให้จำเลยทราบพร้อมกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 และจำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งทั้งสองดังกล่าวในขณะเดียวกันก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองข้อหามีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ความผิดข้อหาที่ 2 จะยังคงเป็นความผิดตลอดไปจนกว่าจำเลยได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร แต่ความผิดข้อหาที่ 4 นั้น จะยังคงเป็นความผิดตลอดไปจนกว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่งซึ่งการที่จะได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและใบอนุญาตในแต่ละกรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด และอาจจะได้ใบรับรองให้ใช้อาคารและใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารในระยะเวลาที่แตกต่างกันได้ด้วย ประกอบกับได้วินิจฉัยแล้วว่า ความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคาร และฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตฯ เป็นความผิดหลายกรรม ดังนั้น การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร และฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารฯ จึงย่อมเป็นความผิดหลายกรรมแยกต่างหากจากกันได้เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานเป็นหลายกรรมนั้นชอบแล้วเช่นกัน

ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าปรับว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานใช้อาคารโดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารปรับวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องอีกสถานหนึ่งและฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานให้ปรับกระทงละ 2,000 บาท ต่อวัน รวมสองกระทงเป็นปรับวันละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องรวมโทษปรับจะต้องชำระวันละ 5,000 บาท และหากรวมโทษปรับถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำเลยต้องถูกลงโทษปรับเป็นจำนวนกว่า8,000,000 บาท นั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 32 วรรคสาม หรือมาตรา 32 วรรคท้าย ที่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง แล้ว ยังต้องรับโทษตามมาตรา 65วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้วผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือมาตรา 57 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ด้วยซึ่งหมายความว่าจำเลยยังต้องถูกปรับเป็นรายวันต่อไปอีกตลอดเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนใช้อาคารที่ไม่ได้รับใบรับรองการใช้อาคารหรือยังใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และเนื่องจากอาคารที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรมซึ่งในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาคารดังกล่าวนี้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 70 ยังได้บัญญัติวางโทษไว้อีกว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษาหรือการสาธารณสุขหรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ ขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ” ดังนั้น การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม หรือมาตรา 32 วรรคท้าย จึงต้องถูกปรับอีกวันละไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ลงโทษปรับความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคารวันละ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงเหลือปรับวันละ1,000 บาท นั้น จึงเป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับใช้อาคารที่ไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคารและไม่ได้ใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 44 นอกจากที่จะต้องรับโทษตามมาตรา 67 วรรคแรก แล้วยังต้องรับโทษตามมาตรา 67 วรรคสองที่บัญญัติว่า “นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้วผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ด้วยซึ่งหมายความว่า จำเลยยังต้องถูกปรับเป็นรายวันต่อไปอีกจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเนื่องจากอาคารที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาคารดังกล่าวนี้ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดดังกล่าวด้วยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 70 ดังนั้น การทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ไม่ได้ใบรับรอง จึงต้องถูกปรับอีกวันละไม่เกินหกหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนคำสั่งหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ลงโทษปรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ไม่ได้ใบรับรองและให้ระงับการเปลี่ยนประเภทการใช้อาคารวันละ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงเหลือปรับวันละ2,000 บาท นั้น จึงเป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วเช่นกัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคาร ปรับวันละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้อาคารดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม2540 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จำเลยจึงต้องรับโทษปรับถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากนี้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุในใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน ปรับ 40,000 บาทแต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65วรรคสอง ที่ให้ปรับจำเลยอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นการไม่ถูกต้องเช่นกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อหานี้และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212″

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้ใบรับรองให้ใช้อาคาร ปรับนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 อีกสถานหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share