แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(2) บัญญัติถึงการลักทรัพย์ในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุซึ่งอุบัติเหตุนั้นเฉพาะเกิดแก่รถไฟหรือยานพาหนะที่ประชาชนโดยสารเท่านั้น ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในบริเวณที่มีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(2) วรรคแรก ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักสร้อยคอทองคำหนัก 9 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 51,300บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 57,000 บาท รวมราคา108,300 บาท ของนายลำพอง ชวนสินธุ์ ผู้เสียหาย ในบริเวณที่มีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกัน ซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บหมดสติ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้และยึดทรัพย์ที่จำเลยลักไปดังกล่าวเป็นของกลางซึ่งผู้เสียหายได้รับคืนแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(2) วรรคแรก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักสร้อยคอทองคำจำนวน2 เส้น ราคารวมกัน 108,300 บาท ของผู้เสียหายในบริเวณที่มีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บหมดสติ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(2) บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิดอุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ” เห็นได้ว่าการลักทรัพย์ในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ อุบัติเหตุนั้น เฉพาะเกิดแก่รถไฟหรือยานพาหนะที่ประชาชนโดยสารเท่านั้น ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(2) วรรคแรก ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า โทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีส่วนระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กฎหมายกำหนดไว้แต่เฉพาะโทษจำคุกขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี จึงต้องกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่าขณะกระทำความผิด จำเลยอายุ 53 ปี ของกลางที่จำเลยลักเป็นสร้อยคอทองคำจำนวน2 เส้นรวมกันหนัก 19 บาท มีราคาสูงถึง 108,300 บาท กระทำความผิดโดยอาศัยผู้เสียหายหมดสติจากอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่ามารดาจำเลยชรามากแล้ว หากจำเลยติดคุกมารดาจำเลยจะต้องเสียใจอย่างมาก แม้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่เหตุเพียงเท่านี้ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรอการลงโทษจำคุกให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6