แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สิทธิจำนองเป็นทรัพย์สิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์ที่จำนอง และจะระงับสิ้นไปด้วยเหตุ 6 ประการ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทที่ซื้อจากผู้ตายไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ก.ก่อนที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลและหากฟังได้ว่าธนาคาร ก. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทไว้โดยสุจริตแล้วเช่นนี้สัญญาจำนองย่อมจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและไม่ระงับสิ้นไปแม้จะมีคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2ก็ตาม คำขอของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตายจึงไม่กระทบถึงสิทธิของธนาคาร ก. ผู้รับจำนองและมีผลบังคับได้ แม้ราคาประเมินของที่ดินและบ้านรวมเป็นเงินทั้งสิ้น450,000 บาท ผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ 1 ใน 4 ส่วน คิดเป็นเงิน112,500 บาท ก็ตาม แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับญาติพี่น้องของผู้ตายรวม 4 คน ดังนั้นการที่ผู้ตายจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลภายนอกย่อมทำได้ยากและได้ราคาต่ำ เมื่อผู้ตายกำลังเดือดร้อนเพราะถูกธนาคารทวงถามให้ชำระหนี้ ประกอบกับเป็นการขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายด้วยเช่นนี้ แม้จะขายในราคาเพียง 50,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าเป็นการร่วมกันฉ้อฉลอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของนายสุทธิพงษ์ อยู่สบาย ผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อเดือนมีนาคม 2534 ก่อนตายผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ และโจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้ตายต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ ต่อมาโจทก์และผู้ตายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 67/2534 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ คดีถึงที่สุด ผู้ตายผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงสืบหาทรัพย์สินอย่างอื่นของผู้ตายและทราบว่าผู้ตายยังมีทรัพย์สินเป็นที่ดินมีโฉนด 2 แปลง ซึ่งผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่นได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 669 และ 1795 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแต่ก่อนตายผู้ตายได้สมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้ผู้ตายชำระหนี้โจทก์แล้ว และจำเลยที่ 2 รู้ถึงคำพิพากษาดังกล่าวด้วยทั้งการซื้อขายมิได้ชำระราคากันจริง แต่เพื่อเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์สามารถบังคับคดีได้ ผู้ตายและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โฉนดเลขที่ 669 และ 1795 ระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 เสีย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ผู้ตายและจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนตามกฎหมายไม่ได้ฉ้อฉลหรือทำไปโดยรู้ว่าโจทก์จะเสียเปรียบ จำเลยที่ 2ไม่ทราบว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ และไม่ทราบคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุรินทร์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 67/2534 มาก่อนโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 669 และ 1795ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างนายสุทธิพงษ์ อยู่สบาย ผู้ตาย กับจำเลย (ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 2)ฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของนายสุทธิพงษ์ อยู่สบายผู้ตาย ซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อเดือนมีนาคม 2534 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้ตายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 67/2534 ของศาลจังหวัดสุรินทร์โดยผู้ตายยินยอมชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 174,297 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจะผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นทั้งหมดภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2535 แต่ปรากฏว่าผู้ตายไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2224 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่น ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ แต่ปรากฏว่าได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์จึงสืบหาทรัพย์สินอื่นของผู้ตายทราบว่าผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่นในที่ดินโฉนดเลขที่ 669 และ 1795 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และผู้ตายได้โอนขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในส่วนที่เป็นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 และจำเลยที่ 2จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสุรินทร์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ที่โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 โดยมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรินทร์ มาด้วยเช่นนี้มีผลบังคับได้หรือไม่ เห็นว่า สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์ที่จำนอง และจะระงับสิ้นไปด้วยเหตุ 6 ประการ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 744 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทที่ซื้อจากผู้ตายไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรินทร์ ก่อนที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล และหากฟังได้ว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสุรินทร์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทไว้โดยสุจริตแล้วเช่นนี้ สัญญาจำนองย่อมจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและไม่ระงับสิ้นไปแม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ก็ตามคำขอของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตายจึงไม่กระทบถึงสิทธิของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรินทร์ผู้รับจำนองและมีผลบังคับได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า ผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 669 และ 1795 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยฉ้อฉลอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าผู้ตายได้สมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ตายชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว และจำเลยที่ 2 ก็รู้ถึงคำพิพากษาดังกล่าวด้วยอีกทั้งการซื้อขายก็มิได้มีการชำระราคากันจริง แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาคงได้ความเพียงว่า โจทก์กับผู้ตายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 67/2534ของศาลจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534โดยผู้ตายยินยอมผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนและจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นทั้งหมดภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2535ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้ตายได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 669 และ 1795 เฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น แต่ในข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 67/2534 ของศาลจังหวัดสุรินทร์มาก่อนหรือไม่นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมายืนยัน แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นมารดาของผู้ตายและมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของผู้ตายก็ตาม แต่ก็หาใช่เป็นเหตุที่จะทำให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้ทราบคำพิพากษาดังกล่าวแล้วไม่ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย ส่วนในข้อที่โจทก์อ้างว่าการซื้อขายมิได้มีการชำระราคากันจริงนั้น โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมายืนยันเช่นเดียวกัน คงมีแต่คำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆของตัวโจทก์ว่า ผู้ตายได้ขายที่ดินทั้ง 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ไปในราคา 50,000 บาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากเท่านั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว มิได้มีการชำระราคากันจริงแต่อย่างใดส่วนจำเลยทั้งสองมีนายอรรณพ จักขุทิพย์ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาฉะเชิงเทรา เป็นพยานเบิกความประกอบพยานเอกสารหมาย ป.ล.1 ถึง ป.ล.3 ว่า ผู้ตายได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรินทร์ แล้วไม่ชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร พยานในฐานะผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรินทร์ในขณะนั้น จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ไปยังผู้ตายต่อมาผู้ตายและจำเลยที่ 2 ได้มาติดต่อกับธนาคาร โดยจำเลยที่ 2ยอมชำระหนี้ของผู้ตายจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ธนาคารแล้วผู้ตายยอมโอนที่ดินในส่วนของผู้ตายซึ่งผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่น 4 คน ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายและได้รับความยินยอมจากธนาคาร เห็นว่า นายอรรณพพยานจำเลยเป็นบุคคลภายนอก ตลอดจนเป็นผู้รู้เห็นในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ด้วย คำเบิกความของนายอรรณพจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าการซื้อขายที่ดินทั้ง 2 แปลงระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 มีการชำระราคากันจริง ส่วนในข้อที่โจทก์อ้างว่าราคาที่ซื้อขายกันเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากนั้น เห็นว่าปรากฏหลักฐานจากหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ว่า ราคาประเมินของที่ดินโฉนดเลขที่ 669ประมาณ 256,000 บาท และโฉนดเลขที่ 1795 ประมาณ 124,000 บาท2 แปลง รวมกันประมาณ 380,000 บาท และบ้าน 7 หลังหลังละ 10,000 บาท เป็นเงิน 70,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น450,000 บาท ผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ 1 ใน 4 ส่วน คิดเป็นเงินประมาณ112,500 บาท แต่เนื่องจากที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับญาติพี่น้องของผู้ตายรวม 4 คนดังนั้นการที่ผู้ตายจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลภายนอกย่อมทำได้ยากและได้ราคาต่ำ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่ว่าผู้ตายกำลังเดือดร้อนเพราะถูกธนาคารทวงถามให้ชำระหนี้ประกอบกับเป็นการขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายด้วยเช่นนี้ แม้จะขายในราคาเพียง 50,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าเป็นการร่วมกันฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 669และ 1795 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนายสุทธิพงษ์ อยู่สบาย ผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 ได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น