คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช. และ ป. ยกที่ดินพิพาทให้ ภ. มารดาโจทก์ แม้การให้จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของ ภ. จากบุคคลอื่น ภ. ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมาจนถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ดังนั้น การที่ ป. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของตนเองให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายชุบ ขำเปรมศรี กับนางประพัฒน์ ขำเปรมศรี เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกันรวม ๔ คน คือ จำเลยที่ ๒ นางภารุณี ขำเปรมศรีหรือเหลืองพยุง ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ นายพนม ขำเปรมศรี และนายชัยยันต์ ขำเปรมศรี เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๖ นางประพัฒน์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑๐๖ ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ ๑๐๕ ตารางวา และต่อมาปี ๒๕๒๐ นายชุบกับนางประพัฒน์ได้ยกที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ ๕๒.๕ ตารางวา ให้แก่มารดาโจทก์แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มารดาโจทก์ได้ปลูกบ้านในที่ดินที่ยกให้ดังกล่าวจากนั้นมารดาโจทก์และโจทก์ได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวปัจจุบันคือบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โจทก์และมารดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินที่ได้รับการยกให้ โดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเรื่อยมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ มารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย แต่โจทก์ก็ยังอยู่ในบ้านดังกล่าวและครอบครองที่ดินจำนวนเนื้อที่ ๕๒.๕ ตารางวา ดังกล่าวมาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ ๒๐ ปี นางประพัฒน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๐ ภายหลังจากนางประพัฒน์ถึงแก่ความตาย นายชัยยันต์ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่านางประพัฒน์ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกบ้านที่มารดาโจทก์ปลูกและที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑๐๖ ให้แก่จำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียวและตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกด้วย ซึ่งความจริงแล้วบ้าน ที่นางประพัฒน์ยกให้จำเลยที่ ๒ นั้นไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของนางประพัฒน์ แต่เป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ ที่ตกแก่โจทก์ ส่วนที่ดินที่ปลูกบ้านเนื้อที่ ๕๒.๕ ตารางวา ตกเป็นของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าว และให้รังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ ๕๒.๕ ตารางวา ที่โจทก์ครอบครองออกจากโฉนดที่ดิน ๓๒๑๐๖ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสอง ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาตาม
คำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายชุบและนางประพัฒน์บิดามารดาจำเลยที่ ๒ ไม่เคยยกที่ดินเนื้อที่ ๕๒.๕ ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่มารดาโจทก์ เพียงแต่อนุญาตให้มารดาโจทก์เข้าไปปลูกบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ อยู่อาศัยกับครอบครัวในที่ดินดังกล่าวเท่านั้น บ้านตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง นายชัยยันต์เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นและปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทจึงตกเป็นส่วนควบของที่ดิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนพินัยกรรมเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการยกบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ ให้แก่จำเลยที่ ๒ เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าระหว่างนายชุบและนางประพัฒน์มีชีวิตอยู่ได้ร่วมกันซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ ๓๒๑๐๖ ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) เนื้อที่ ๑๐๕ ตารางวา ใส่ชื่อนางประพัฒน์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และปลูกบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๒ โดยอยู่อาศัยร่วมกับบุตรทุกคน ต่อมาปี ๒๕๒๐ นายชุบและนางประพัฒน์ได้ให้นางภารุณีซึ่งเป็นบุตรคนแรกที่แต่งงาน ปลูกบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑๐๖ เป็นเนื้อที่ ๕๒.๕ ตารางวา เพื่ออยู่อาศัยซึ่งเป็นที่ดินพิพาท นางภารุณีกับโจทก์และน้องโจทก์ได้เข้าอยู่อาศัยในบ้าน ดังกล่าวจนกระทั่งนางภารุณีถึงแก่ความตาย นางประพัฒน์จึงเข้ามาเป็นหัวหน้าครอบครัวในบ้านดังกล่าวแทนนางภารุณี โดยที่โจทก์และน้องโจทก์ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๕ นางประพัฒน์ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑๐๖ พร้อมบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ และ ๒๘๖/๑๒ ให้จำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี ๒๕๒๐ นายชุบและ นางประพัฒน์ยกที่ดินพิพาทให้นางภารุณี จากนั้นนางภารุณีได้ปลูกบ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๑ เสร็จเมื่อปี ๒๕๒๑ แล้วโจทก์กับน้องและบิดามารดาได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว ความข้อนี้โจทก์มีนายพนม ขำเปรมศรี เป็นพยานเบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยคงมีตัว จำเลยที่ ๒ เป็นพยานเบิกความว่า นายชุบและนางประพัฒน์ไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้นางภารุณี เพียงแต่อนุญาตให้ นางภารุณีปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเพราะนางภารุณีไม่มีที่พักอาศัย เห็นว่า นายพนมเป็นน้าโจทก์และเป็นน้องจำเลยที่ ๒ ทั้งยังพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๘๖/๑๒ ซึ่งนายชุบและนางประพัฒน์ปลูกเป็นที่อยู่อาศัยและจำเลยที่ ๒ ก็อยู่บ้านหลังเดียวกันนี้ด้วย จึงเป็นญาติใกล้ชิดกับคู่กรณี โดยที่พยานนี้ไม่มีเรื่องโกรธเคืองกับฝ่ายใด คำเบิกความจึงมีน้ำหนัก ในปี ๒๕๒๐ นางภารุณีเป็นบุตรคนแรกของนายชุบและนางประพัฒน์ที่แต่งงานและยังคงอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับทุกคนในครอบครัว จึงน่าเชื่อว่า นายชุบและนางประพัฒน์ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ว่างของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑๐๖ ให้นางภารุณีกับ ครอบครัวแยกไปปลูกบ้านต่างหาก แม้การยกให้จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๒๕ แต่โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของนางภารุณีจากบุคคลอื่น นางภารุณีจึงครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมาจนถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรนางภารุณีได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนางภารุณีโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็น เจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ดังนั้น การที่นางประพัฒน์ทำพินัยกรรมยกที่ดินซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของตนเองให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้เพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ เสียให้ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนพินัยกรรมเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share