คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คนร้ายชิงทรัพย์ของโจทก์แล้วเอาไปจำนำที่โรงรับจำนำจำเลยเป็นเงินชิ้นละเกินกว่า 10,000 บาท จำเลยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 โจทก์เจ้าของทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่และแม้โจทก์เสียค่าไถ่ไปแล้วโดยสำคัญผิด โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยได้ เพราะการที่จำเลยรับเงินจากโจทก์เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายชิงทรัพย์เครื่องเพชรเครื่องทองกับทรัพย์สินอื่นของโจทก์อีกหลายรายการแล้วเอาทรัพย์บางส่วนไปจำนำไว้ที่โรงรับจำนำจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับคนร้ายได้และไปยึดของกลางที่จำเลย จำเลยอ้างสิทธิยึดหน่วงและให้ไถ่ถอนตามราคาที่จำนำ โจทก์เกรงว่าทรัพย์จะถูกยักย้ายเปลี่ยนแปลงและพนักงานสอบสวนก็แนะนำให้ไถ่ถอน ประกอบกับโจทก์เชื่อว่าจำเลยมีสิทธิเช่นนั้นจึงยอมชำระเงินค่าไถ่ถอนให้จำเลยไป 150,000 บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยรับจำนำทรัพย์แต่ละรายการเป็นเงินเกินกว่า 10,000 บาทขัดต่อพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ จำเลยอ้างสิทธิดังกล่าวไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินคืน และจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ มาตรา 24 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ไปจากบ้านโจทก์หลายอย่าง รวมทั้งแหวนเพชรเรือนทองหน้าเงินเกาะเพชรลูก 15 เม็ด แหวนเพชรเรือนทองขาวเกาะเพชรลูก 25เม็ด และสร้อยคอทองขาวประดับเพชร 63 เม็ดด้วย ต่อมาสืบทราบว่านางเสาวณิต เจริญวงศ์ยิ่ง นำแหวนเพชรเรือนทองหน้าเงินเกาะเพชรลูก 15 เม็ด แหวนเพชรเรือนทองขาวเกาะเพชรลูก 25 เม็ดและสร้อยคอทองขาวประดับเพชร 63 เม็ด ของโจทก์ไปจำนำไว้กับโรงรับจำนำของจำเลยจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางเสาวณิตนางเสาวณิตได้ใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเงิน 109,500บาท เพื่อไม่ให้โจทก์เอาความแก่นางเสาวณิต โจทก์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวรวมกับเงินส่วนตัวของโจทก์ไปไถ่ทรัพย์ดังกล่าวคืนมาจากจำเลในราคา 150,000 บาท โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยจะคืนให้เพียงครึ่งเดียว ซึ่งโจทก์ไม่ยินยอม ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของจำเลยมีเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางเสาวณิตมอบเงินให้โจทก์เป็นการใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้โจทก์เอาความแก่นางเสาวณิต เงินที่นางเสาวณิตมอบให้แก่โจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวรวมกับเงินของโจทก์ไปไถ่ทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์คืนมาจากจำเลย ก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ไถ่ทรัพย์ดังกล่าว หาใช่นางเสาวณิตเป็นผู้ไถ่คืนไม่ แม้จะฟังว่าพันตำรวจตรีเรวัต ตันนานนท์ พยานโจทก์เป็นผู้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยแทนโจทก์ในการไถ่ทรัพย์ดังกล่าวคืนก็หาใช่ข้อสาระสำคัญไม่ เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เป็นผู้ไถ่ทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลย จำเลยซึ่งเป็นโรงรับจำนำรับจำนำทรัพย์เป็นมูลค่าเกินกว่า 10,000 บาท ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ โจทก์ยอมเสียเงินค่าไถ่ทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเรียกร้องเงินคืนจากจำเลยนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การที่จำเลยรับเงินค่าไถ่จากโจทก์ไว้จึงเป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนทรัพย์ให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้
พิพากษายืน.

Share