คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 ที่ใช้ในขณะทำสัญญามิได้ห้ามการให้เช่าช่วงเหมืองแร่ต่อมา พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 76 ห้ามรับช่วงทำเหมือง แต่มิได้ห้ามเด็ดขาด อาจรับอนุญาตจากรัฐมนตรีได้ จึงอาจบังคับตามสัญญาได้ ไม่ตกเป็นโมฆะและพ้นวิสัย
ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้ทำสัญญาให้เช่าช่วงทำเหมืองฟ้องคู่สัญญาได้ไม่ต้องรับอนุญาตจากหุ้นส่วนอื่น
สัญญาซึ่งผู้ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่จ้างจำเลยรับเหมาให้จำเลยผลิตแร่ได้โดยจำเลยผู้รับจ้างจะชำระผลประโยชน์แก่โจทก์ผู้ว่าจ้างเป็นรายเดือน ดังนี้ ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ แต่เป็นสัญญาเช่าช่วงเหมืองแร่
ผู้ให้เช่าทำเหมืองเนื้อที่ 71 ไร่ แต่ส่งมอบเหมืองจริงเพียง 37 ไร่ ผู้ให้เช่าเรียกค่าเช่าได้เพียงเท่าเนื้อที่ที่ให้เช่าผลิตแร่ได้จริงเท่านั้น ศาลลดค่าเช่าลงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ตกลงกัน
กำหนดชำระค่าเช่าเหมืองแร่ไว้ แต่เมื่อล่วงเลยไปแล้วผู้ให้เช่า ก็ไม่ทักท้วง แต่ให้ผู้เช่าผ่อนเวลาชำระค่าเช่า
ผู้ให้เช่าคิดดอกเบี้ยในค่าเช่าที่ค้างฐานผิดนัดแต่ละเดือนไม่ได้ ศาลคิดให้ตั้งแต่วันบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่าภายหลัง
ทำสัญญาเช่าไว้แล้ว จำเลยนำสืบลดค่าเช่าเป็นข้อตกลงกันใหม่แก้ไขข้อสัญญาเดิม จำเลยนำสืบด้วยพยานบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าเหมือง พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน25,050 บาท กับดอกเบี้ยตั้งแต่วันบอกกล่าวผิดนัด ให้ส่งมอบเหมืองกับแร่ที่ขุดได้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยชำระเงิน 125,000 บาท โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อปี พ.ศ.2504โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ฟลูออไรท์ในเนื้อที่ประมาณ70 ไร่ โดยขอเช่าช่วงจากกรมทรัพยากรธรณี เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจรังวัดและได้รวมเรื่องราวดังกล่าวแล้วอนุญาตให้โจทก์ทำเหมืองแร่ได้ในเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ คือเหมืองแร่พิพาท ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2508 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างเหมาผลิตแร่ฟลูออไรท์ในเหมืองแร่พิพาทโดยโจทก์เป็นผู้ว่าจ้าง จำเลยเป็นผู้รับจ้างตามรายละเอียดในสัญญาหมาย จ.3 โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่พิพาทชั่วคราวและได้มอบอำนาจให้จำเลยเข้าทำเหมืองแร่พิพาทตามสัญญาในปี พ.ศ. 2509 และโจทก์ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทในเนื้อที่เพียง 37 ไร่ 54 ตารางวา ตามประทานบัตรเลขที่ 10552/9175 สัญญาจ้างเหมาผลิตแร่ฟลูออไรท์รายนี้มีกำหนดเวลา 3 ปี และในการทำเหมืองแร่โจทก์เข้าหุ้นกับนายคำ วรรณกิละ นายกองใจ สุขระแหง และนายบรรเทิง สุวรรณโสภณ จำเลยได้ชำระเงินล่วงหน้าในการเข้ารับจ้างผลิตแร่ตามสัญญาข้อ 11 ซึ่งกำหนดไว้ 30,000 บาท ให้แก่โจทก์เพียง 5,000 บาท คงค้างอยู่ 25,000 บาท และเมื่อจำเลยทำเหมืองแร่ตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ได้ชำระเงินผลประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท ตามสัญญาข้อ 7 ให้แก่โจทก์เลย ทั้งสัญญาหมาย จ.3 ก็สิ้นอายุแล้ว โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหมาย จ.3 ไปยังจำเลยเพราะจำเลยผิดสัญญา ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ใช่จำเลย และหุ้นส่วนอื่น ๆ ของโจทก์อีก 3 คนได้ทำสัญญาประนีประนอมลดเงินผลประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ให้จำเลย และจำเลยได้ชำระเงินผลประโยชน์ส่วนที่เป็นของหุ้นส่วน 3 คน ดังกล่าวไปแล้ว คงต้องชำระให้แก่โจทก์เพียง 25,050 บาท ส่วนเงินค่าล่วงหน้านั้น โจทก์ไม่คิดเอาจากจำเลย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีดังนี้

1. สัญญาหมาย จ.3 เป็นสัญญาเช่าช่วงทำเหมืองแร่พิพาทหรือไม่

2. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

3. จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่

4. จำเลยเอาสัญญาประนีประนอมที่หุ้นส่วนอื่นของโจทก์ทำกับจำเลยลงวันที่ 12 เมษายน 2511 มายันโจทก์ได้หรือไม่

5. หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยต้องชำระเงินตามสัญญาหมาย จ.3ให้แก่โจทก์เพียงใด และต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด

6. ที่จำเลยนำสืบถึงประเด็นเรื่องโจทก์ลดเงินผลประโยชน์ลงเพราะเนื้อที่ผลิตแร่น้อยกว่าสัญญาและแร่มีน้อยทั้งมีเปอร์เซ็นต์ต่ำนั้น ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่

ซึ่งศาลฎีกาจะได้พิจารณาต่อไปตามลำดับ

ข้อแรกที่ว่าสัญญาหมาย จ.3 เป็นสัญญาเช่าช่วงทำเหมืองแร่พิพาทหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้ว คดีได้ความตามคำนายถวัลย์ เกรียงไกรสุข พยานโจทก์ประกอบจดหมายโต้ตอบระหว่างนายถวัลย์กับโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับโจทก์ตามที่โจทก์อ้างส่งศาลเป็นลำดับมาว่าเดิมจำเลยจะขอซื้อเหมืองแร่พิพาทจากโจทก์ แต่ตกลงราคากันไม่ได้ ต่อมาจำเลยจึงขอเช่า ในที่สุดโจทก์จึงตกลงให้จำเลยเช่าและได้ทำสัญญาหมาย จ.3 กันขึ้น พิจารณาข้อความในสัญญาหมาย จ.3 ข้อ 7 แล้วระบุชัดว่า ได้ตกลงให้จำเลยผู้รับจ้างชำระผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์ผู้ว่าจ้างในการทำเหมืองแร่พิพาทเป็นรายเดือน เห็นได้ว่าเจตนาของคู่สัญญาคือโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องตกลงเช่าช่วงเหมืองแร่พิพาทหาใช่จ้างเหมาผลิตแร่หรืออีกนัยหนึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาหมาย จ.3 ไม่ใช่สัญญาเช่าช่วงเหมืองแร่จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ 2 ที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เมื่อฟังว่าสัญญาหมาย จ.3เป็นสัญญาเช่าช่วงเหมืองแร่พิพาท ปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาหมาย จ.3 เมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่พ.ศ. 2461 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญากัน และแม้ต่อมาพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 และตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 76 จะได้ห้ามรับช่วงทำเหมืองแร่ก็ตาม แต่ตามมาตรา 76 และ 77 แห่งพระราชบัญญัติแร่ดังกล่าวก็มิได้ห้ามรับช่วงการทำเหมืองแร่โดยเด็ดขาด เพราะหากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงทำเหมืองแร่กันได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาหมาย จ.3 ได้ หาเป็นโมฆะและเป็นการพ้นวิสัยที่จะบังคับกันได้ไม่ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง มีอำนาจฟ้องโดยหุ้นส่วนอื่นไม่ได้อนุญาตหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาหมาย จ.3 โดยลำพังกับจำเลย โจทก์จึงเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับสัญญาหมาย จ.3ที่ทำต่อกันไว้นั้นได้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ 3 ที่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้นเห็นว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ได้อุทธรณ์และแก้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นข้อนี้แต่อย่างใด และศาลอุทธรณ์ก็ฟังว่า จำเลยผิดสัญญาดุจกัน ฉะนั้นจำเลยจะฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ตกไป

ข้อ 4 ที่ว่า จำเลยยกเอาสัญญาประนีประนอมที่หุ้นส่วนอื่น ๆ ของโจทก์ทำกับจำเลยลงวันที่ 12 เมษายน 2511 มายันโจทก์ได้หรือไม่นั้นเห็นว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกิจการทำเหมืองแร่พิพาทของจำเลยขาดทุน จำเลยจึงตกลงกับหุ้นส่วนอื่นของโจทก์มี นายดำ นายกองใจ และนายบรรเทิง ลดเงินผลประโยชน์ที่จำเลยจะต้องจ่ายตามสัญญาหมาย จ.3ลง และจำเลยได้จ่ายเงินผลประโยชน์ที่ลดลงแล้วให้แก่นายคำ นายกองใจ และนายบรรเทิง หุ้นส่วนของโจทก์ตามส่วนของจำนวนหุ้นไปแล้ว รวม 50,000 บาทเศษ พิเคราะห์สัญญาประนีประนอมข้อ 5 แล้ว ได้ระบุชัดว่า หุ้นของโจทก์ไม่เกี่ยวกับสัญญานี้ จำเลยเองก็นำสืบรับว่า การทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวโจทก์ไม่ได้มาด้วย โจทก์ก็นำสืบปฏิเสธความข้อนี้ ทั้งโจทก์ก็หาได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมนั้นไม่ สัญญาประนีประนอมดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ จำเลยจะยกเอาสัญญาประนีประนอมดังกล่าวมาอ้างเพื่อไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาหมาย จ.3 หาได้ไม่เมื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาหมาย จ.3 กับโจทก์ และจำเลยผิดสัญญาแล้ว จำเลยจึงต้องชำระหนี้อันเกี่ยวกับสัญญาหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์

ข้อ 5 ที่ว่า หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญาหมาย จ.3 เพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังมาแล้วว่าจำเลยผิดสัญญา สำหรับเงินค่าผลประโยชน์ที่จำเลยผู้เช่าช่วงเหมืองแร่พิพาทต้องชำระให้แก่โจทก์ฐานผิดสัญญาเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท ตามสัญญาข้อ 7 นั้น จำเลยไม่ได้ชำระให้โจทก์เลย เป็นระยะเวลา 16 เดือน เป็นเงิน360,000 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ทั้งหมดหรือไม่นั้น เห็นว่าตามสัญญาหมาย จ.3 นั้น จำเลยเช่าทำเหมืองแร่จากโจทก์ในเนื้อที่ 71 ไร่แต่เนื้อที่ตามประทานบัตรที่โจทก์ให้จำเลยทำเหมืองแร่จริงมีเพียง 37 ไร่54 ตารางวา ไม่ครบจำนวนตามสัญญา โจทก์จึงจะเรียกค่าเช่าเต็มตามจำนวนในสัญญาหาชอบไม่ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าเพียงเท่าเนื้อที่ที่โจทก์ให้จำเลยเช่าผลิตแร่จริงเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดอัตราค่าเช่าให้จำเลยชำระให้โจทก์เพียงครึ่งหนึ่งของค่าเช่าตามสัญญาหมาย จ.3 คือ 130,000บาท นั้นเป็นการสมควรและเหมาะสมแล้ว ส่วนเงินค่าล่วงหน้าที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ในการผลิตแร่ทำนองเงินค่าตอบแทนตามสัญญาหมาย จ.3 ข้อ 11 จำนวน 30,000 บาท ที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ไม่เอาจากจำเลยนั้น เห็นว่าพยานจำเลยเบิกความลอย ๆ ถึงข้อนี้ ทั้งเบิกความแตกต่างกันและขัดต่อเหตุผลฟังไม่ได้ตามที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฉะนั้นเมื่อจำเลยได้เข้าทำเหมืองแร่พิพาทตามสัญญาหมาย จ.3 แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาข้อ 11 จำนวน 30,000 บาทให้โจทก์ จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้ว 5,000 บาท คงเหลือต้องจ่ายให้โจทก์อีก 25,000 บาท สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ฎีกาขอให้นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าแต่ละเดือนนั้น เห็นว่า เวลาที่จำเลยเริ่มทำเหมืองแร่นั้นล่วงเลยกำหนดตามสัญญาไปแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ทักท้วงและขอเลิกสัญญาเท่ากับว่า โจทก์ได้ผ่อนชำระค่าเช่าแต่ละเดือนให้แก่จำเลยเป็นลำดับมาโดยมิได้ถือกำหนดนัดแต่ละเดือนตามสัญญาหมาย จ.3 ข้อ 7 เป็นกำหนดแน่นอนต่อไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นตามจดหมายที่จำเลยมีถึงโจทก์หมาย จ.11 ที่โจทก์อ้างส่งศาล จำเลยก็ยืนยันในจดหมายนั้นว่า โจทก์ได้ผ่อนผันการชำระเงินให้จำเลยแล้ว ฉะนั้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยโดยถือว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าแต่ละเดือนตามกำหนดในสัญญาไม่ได้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระ ซึ่งเป็นวันผิดนัดคือตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2512 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์หักเงิน 5,000 บาทจากเงินค่าเช่าที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์และไม่พิพากษาให้จำเลยชำระเงินล่วงหน้า 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ข้อ 6 ที่ว่า จำเลยนำสืบประเด็นเรื่องลดเงินผลประโยชน์ตามสัญญาลง เพราะเนื้อที่ที่ผลิตแร่น้อยกว่าสัญญาและแร่มีน้อยทั้งมีเปอร์เซ็นต์ต่ำ เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารหมาย จ.3 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าว เป็นการนำสืบว่า คู่สัญญาตกลงกันใหม่เพื่อแก้ไขข้อตกลงในสัญญาเดิม จำเลยจึงชอบที่จะนำพยานบุคคลมาสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 ดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินค่าเช่า 130,000 บาท กับเงินล่วงหน้าอีก 25,000 บาทให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกา ให้เป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share