แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานในหน้าที่ผู้จัดการจำเลย โดยโจทก์ต้องจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มาจำหน่าย ในร้านสหกรณ์จำเลยโจทก์ต้องเอาเงินโจทก์ไปลงทุนหมุนเวียน เป็นจำนวนถึง 102,000 บาท ทั้งโจทก์มีสิทธิดำเนินงานได้ทุกประการ ในการจัดหาสินค้าเพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการของสมาชิกสำหรับค่าจ้างโจทก์นั้น จำเลยคิดให้ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินกำไรสุทธิประจำปีตามข้อบังคับของจำเลยส่วนจำเลยคงได้รับกำไรสุทธิร้อยละ 20 เห็นได้ว่าจำเลยเป็นเพียงหวังได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวเป็นการตอบแทนโดยจำเลยไม่ต้องเสี่ยงภัยรับผิดและลงทุนประกอบการค้า แต่อาศัยที่จำเลยเป็นนิติบุคคลมีสมาชิกขึ้นอยู่กับจำเลย จำเลยจึงยินยอมให้โจทก์ใช้นามของจำเลยในการดำเนินกิจการค้า ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากสมาชิกของจำเลย โดยจำเลยคงเป็นแต่เพียงควบคุมดูแลการดำเนินการของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อสัญญาระเบียบแบบแผน มติของคณะกรรมการของจำเลยเท่านั้นหากเกิดความเสียหาย โจทก์ฝ่ายเดียวเป็นผู้รับผิด จำเลยผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในการขาดทุนในกิจการค้านั้น คงมีแต่ส่วนได้คือผลกำไรเท่านั้นหากการค้าขาดทุน โจทก์คงเป็นผู้รับผิดฝ่ายเดียว และไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนเลย สินค้าที่โจทก์นำมาเสนอขายในร้านของจำเลยก็เป็นสินค้าของโจทก์เองที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรง เมื่อจำเลยเลิกสัญญาจ้างโจทก์แล้ว เช่นนี้ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิรับคืนสินค้าไปจากจำเลยหรือเรียกเงินค่าสินค้าของโจทก์ที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกหนี้ได้แล้วแต่กรณี ความผูกพันระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่เข้าลักษณะตัวการตัวแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้จัดการร้านค้าชื่อ “ห้างศรีกรุง” จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลย โดยให้โจทก์จัดหานำสินค้าในร้านโจทก์และร้านค้าอื่นมาจำหน่ายในร้านจำเลยและในนามของจำเลยทั้งเงินสดเงินเชื่อ แล้วจำเลยก็จะนำเงินที่ขายสินค้าได้ชำระแก่โจทก์และร้านค้าอื่นที่โจทก์รับสินค้ามา โจทก์ต้องมอบเงินไว้กับจำเลยไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์ เมื่อโจทก์พ้นหน้าที่ตามสัญญาจ้าง โจทก์ได้นำเงินของโจทก์ ๑๐๒,๐๐๐ บาทฝากธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาในนามของจำเลยซึ่งเงินคงเหลือ ๖๑๑.๓๔ บาท การจัดนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านค้าของจำเลยโจทก์ได้รับชำระเป็นคราว ๆ ในที่สุดมีสินค้าค้างอยู่ที่จำเลยเป็นเงิน ๖๒๕,๔๖๗ บาท ๕๐ สตางค์ โจทก์ได้รับราคาสินค้าที่ค้างจากจำเลยแล้ว ๑๒๓,๑๗๐.๔๖ บาท กับโจทก์รับสินค้ามาอีกเป็นเงิน ๕๘,๘๓๙ บาท ๙๕ สตางค์ คิดราคาสินค้าค้างที่จำเลยเป็นเงิน ๔๔๓,๔๕๗ บาท ๐๙ สตางค์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ไม่ยอมให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องและเอาสินค้าคืนตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าสินค้า ๔๔๓,๔๕๗.๐๙ บาทและเงินทุนหมุนเวียน ๑๐๒,๐๐๐ บาท รวม ๕๔๕,๔๕๗.๐๙ บาท พร้อมกับดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้จ้างโจทก์เป็นผู้จัดการร้านจำเลยจริงเงิน ๑๐๒,๐๐๐ บาทไม่ใช่เงินที่โจทก์นำมาลงทุนตามฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงิน ๑๐๒,๐๐๐ บาทคืน ทั้งโจทก์ไม่ได้นำเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทมาลงทุนตามข้อสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยจ่ายเงิน ๖๑๑.๓๔ บาทคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานในหน้าที่ผู้จัดการจำเลย โดยโจทก์ต้องจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มาจำหน่ายในร้านสหกรณ์จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อสัญญาเป็นที่เห็นได้ชัดว่า การที่โจทก์เข้าดำเนินกิจการค้าของจำเลยนั้น โจทก์ต้องเอาเงินโจทก์ไปลงทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนถึง ๑๐๒,๐๐๐ บาท ทั้งโจทก์มีสิทธิดำเนินงานได้ทุกประการในการจัดหาสินค้าเพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการของสมาชิก สำหรับค่าจ้างโจทก์นั้น จำเลยคิดให้ในอัตราร้อยละ ๘๐ ของเงินกำไรสุทธิประจำปีตามข้อบังคับของจำเลย ส่วนจำเลยคงได้รับกำไรสุทธิร้อยละ ๒๐ เห็นได้ว่าจำเลยเป็นเพียงหวังได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวเป็นการตอบแทนโดยจำเลยไม่ต้องเสี่ยงภัยรับผิดและลงทุนประกอบการค้า แต่อาศัยที่จำเลยเป็นนิติบุคคลมีสมาชิกขึ้นอยู่กับจำเลยจำเลยจึงยินยอมให้โจทก์ใช้นามของจำเลยในการดำเนินกิจการค้า ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากสมาชิกของจำเลยโดยจำเลยคงเป็นแต่เพียงควบคุมดูแลการดำเนินการของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อสัญญาระเบียบแบบแผนมติของคณะกรรมการของจำเลยเท่านั้นหากเกิดความเสียหายโจทก์ฝ่ายเดียวเป็นผู้รับผิด จำเลยผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในการขาดทุนในกิจการค้านั้น คงมีแต่ส่วนได้คือผลกำไรเท่านั้นหากการค้าขาดทุนโจทก์คงเป็นผู้รับผิดฝ่ายเดียวและไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนเลย สินค้าที่โจทก์นำมาเสนอขายในร้านของจำเลยก็เป็นสินค้าของโจทก์เองที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรง เมื่อจำเลยเลิกสัญญาจ้างโจทก์แล้วเช่นนี้โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิรับคืนสินค้าไปจากจำเลยหรือเรียกเงินค่าสินค้าของโจทก์ที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกหนี้ได้ แล้วแต่กรณี ความผูกพันระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่เข้าลักษณะตัวการตัวแทน
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เก็บเงินจากสมาชิกผู้เป็นลูกหนี้เป็นจำนวน ๔๔๔,๔๕๙ บาท ๖๕ สตางค์ จริง ซึ่งจำเลยต้องชำระให้โจทก์และเงินหมุนเวียนของโจทก์ ๑๐๒,๐๐๐ บาทนั้น โจทก์สืบฟังได้ว่าโจทก์นำมาใช้หมุนเวียน ตามสัญญาจ้างจำเลยต้องคืนเงินทุนหมุนเวียนให้โจทก์ต้องหมายความว่ามีตัวเงินอยู่ครบจำนวนที่จะคืนให้โจทก์ได้ แต่โจทก์ก็ยืนยันอยู่ว่าเงินทุนทั้งหมดเป็นของโจทก์ทั้งสิ้น ฉะนั้น เงินจำนวนนี้ย่อมรวมอยู่ในจำนวนสินค้าและราคาค่าสินค้าที่จำเลยค้างชำระ ๔๔๔,๔๕๙.๖๕ บาทที่โจทก์จำเลยรับกันนั้นแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจะสั่งคืนเงิน ๑๐๒,๐๐๐ บาทให้โจทก์ทั้งหมดหาได้ไม่
คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ยังคงค้างอยู่กับจำเลยเป็นเงิน ๔๔๓,๔๕๗.๐๙ บาท ซึ่งเป็นทุนของสินค้านั้น และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ขายสินค้าของโจทก์และได้รับเงินมาแล้ว ๔๔๔,๔๕๙.๖๕ บาท จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนค่าสินค้าที่เป็นทุนจำนวนเงิน ๔๔๓,๔๕๗.๐๙ บาทให้โจทก์
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระเงินราคาสินค้าค้างชำระตามจำนวนที่โจทก์ขอ ๔๔๓,๔๕๗.๐๙ บาท กับเงินทุนหมุนเวียนที่ยังเหลือ ๖๑๑.๓๔ บาท รวมสองจำนวนเป็นเงิน ๔๔๔,๐๖๘.๔๓ บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ