คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

่จำเลยกับพวกขึ้นไปบนบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจับแขนผู้เสียหายที่ 2 ลากลงจากบ้านพาไปข่มขืนกระทำชำเรายังบ้านที่เกิดเหตุนั้นเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน และตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจารและข่มขืนกระทำเรา มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่หลังจากที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยกับพวกใส่กลอนขังผู้เสียหายที่ 2 ไว้ในห้องนอนโดยมีพวกของจำเลยอยู่ข้างล่าง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อาจหลบหนีไปได้ การกระทำของจำเลยกับพวกในส่วนหลังนี้จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 อีกกรรมหนึ่ง
่จำเลยกับพวกร่วมกันจับแขนผู้เสียหายที่ 2 ลากลงจากบ้านเพื่อพาไปข่มขืนกระทำชำเรา แต่การจับแขนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อพาเอาตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปให้ได้เท่านั้น หาใช่มีลักษณะเป็นการกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ไม่ และในระหว่างที่พาผู้เสียหายที่ 2 ไปนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้กระทำการอย่างไรบ้าง อันมีลักษณะเป็นการกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตามป.อ. มาตรา 278 ประกอบมาตรา 83 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ และเนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามป.วิอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๗๖ วรรคสอง, ๒๗๘, ๒๘๔, ๓๑๐, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันบุกรุก ร่วมกันกระทำอนาจาร ร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายจริง แต่ปฏิเสธว่ามิได้กระทำโดยมีอาวุธปืน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๘, ๒๘๔, ๓๑๐, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, (๒) (๓) ประกอบมาตรา ๘๓ และมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันกระทำอนาจาร จำคุก ๒ ปี ฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจาร จำคุก ๒ ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น จำคุก ๑ ปี ฐานร่วมกันบุกรุก จำคุก ๒ ปี และฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ วรรคแรก, ๒๗๘, ๒๘๔ วรรคแรก, ๓๑๐ วรรคแรก, ๓๖๕ (๒) (๓) ประกอบมาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๘๓ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย ความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจาร ความผิดฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจาร ความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๕ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งมีปัญหาวินิจฉัย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยกับพวกขึ้นไปบนบ้านของผู้เสียหายที่ ๑ ทำทีขอน้ำดื่มแล้วร่วมกันจับแขนผู้เสียหายที่ ๒ ลากลงจากบ้าน พาผู้เสียหายที่ ๒ ไปที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๓ กิโลเมตร จากนั้นจำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ ๒ ขึ้นไปบนบ้านดังกล่าว แล้วจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกใส่กลอนขังผู้เสียหายที่ ๒ ไว้ในห้องนอน จนกระทั่งรุ่งเช้ามีคนมาเรียกให้จำเลยพาผู้เสียหายที่ ๒ ลงจากบ้านแล้วพากันไปพบเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งรออยู่ที่บ้านพวกของจำเลย เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกขึ้นไปบนบ้านของผู้เสียหายที่ ๑ แล้วจับแขนผู้เสียหายที่ ๒ ลากลงจากบ้านพาไปข่มขืนกระทำชำเรายังบ้านที่เกิดเหตุนั้น เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน และตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยเจตนาเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่หลังจากที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ แล้ว จำเลยกับพวกใส่กลอนขังผู้เสียหายที่ ๒ ไว้ในห้องนอนโดยมีพวกของจำเลยอยู่ข้างล่าง ทำให้ผู้เสียหายที่ ๒ ไม่อาจหลบหนีไปได้ การกระทำของจำเลยในส่วนหลังนี้จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ ๒ อีกกรรมหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารด้วยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจับแขนผู้เสียหายที่ ๒ ลากลงจากบ้านเพื่อพาไปข่มขืนกระทำชำเราซึ่งการจับแขนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อพาเอาตัวผู้เสียหายที่ ๒ ไปให้ได้เท่านั้นหาใช่เป็นการกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ ๒ ไม่ และในระหว่างที่พาผู้เสียหายที่ ๒ ไปนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้กระทำการอย่างไรบ้างอันมีลักษณะเป็นการกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ ๒ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๘ ประกอบมาตรา ๘๓ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ได้ ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตามฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง,๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจาร และข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๕ ปี และลงโทษฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๖ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุก ๓ ปี ยกฟ้องความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจาร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘

นายจำแลง กุลเจริญ ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายเกษม ควรเจริญ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share