คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานที่จำเลยที่ 1 และ 2 เป็นนายจ้างของผู้ขับรถโดยประมาทและจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษาคดีโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบวันนัดสืบพยานและวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ พิพากษาให้เพิกถอนเสียแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาเสียใหม่ได้ แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกปัญหาข้อนี้อุทธรณ์ขึ้นมาก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลข ก.ท.ข.3355โดยนายอินจี แซ่ตั้ง เป็นผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2509 ขณะนายประสาน สุมนุษยานนท์ ขับรถยนต์คันนั้นออกจากที่จอดจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ ก.ท.07309 โดยความเร็วสูง ตัดหน้าโดยกระชั้นชิดพุ่งเข้าชนรถยนต์เลข ก.ท.ข.3355 ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ขับรถนั้นโดยเป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์ ก.ท.07309 จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยอุบัติเหตุค้ำจุนรถยนต์หมายเลข ก.ท.07309 โดยมีข้อสัญญาว่า หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากรถยนต์หมายเลข ก.ท.07309 จำเลยที่ 4 จะชดใช้แทนจนครบ จำเลยที่ 1, 2จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดให้แก่นายอินจี แซ่ตั้ง และจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1, 2, 3 ในฐานะผู้รับประกันภัย โจทก์ต้องซ่อมรถ ก.ท.ข.3355 ให้แก่นายอินจี แซ่ตั้ง เป็นเงิน 4,480 บาท โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ให้การปฏิเสธความรับผิด

จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม โจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 3

เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนาย ศาลสั่งให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ที่ 4ถึงวันนัดสืบพยานจำเลยก็ยังส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ไม่ได้ศาลสั่งเลื่อนการสืบพยานจำเลย และให้ส่งหมายนัดใหม่ คงส่งหมายให้ได้เฉพาะจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 ส่งไม่ได้จำเลยที่ 4 แต่งทนายใหม่

ถึงวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ทราบนัดแล้วไม่มาศาล จึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา เมื่อสืบพยานจำเลยที่ 2, 4 หมดแล้ว ได้นัดฟังคำพิพากษาโดยมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบ และศาลได้ถือว่าได้อ่านคำพิพากษาไปในวันนัดเพราะไม่มีฝ่ายใดมาศาล โดยพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ ก.ท.07309 มาร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 4เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ ก.ท.07309 เมื่อโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยเท่าที่โจทก์จ่ายไป จำเลยที่ 3 ขับรถโดยประมาทชนรถของผู้เสียหาย เป็นการละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 1, 2 จ้างจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1, 2, 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1, 3, 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย

จำเลยที่ 2 ที่ 4 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ทราบนัดและขาดนัดพิจารณาแล้วดำเนินการพิจารณาต่อมาจนพิพากษาคดี โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องที่ทนายขอถอนตัว ไม่ทราบวันนัดพิจารณาและไม่ได้มาศาลเลยเช่นนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่สั่งนั้นตลอดมาจนพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนเสีย แล้วดำเนินการพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เพิกถอนการพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ผิดระเบียบนั้น

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นกระบวนพิจารณาใหม่ ประเด็นเรื่องศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณามิชอบจึงไม่มีประเด็นขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่จึงคลาดเคลื่อน ขอให้พิพากษาแก้แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษาคดีโดยจำเลยที่ 1 มิได้รับทราบวันนัดสืบพยาน มิได้รับทราบวันนัดอ่านคำพิพากษา ถือได้ว่าศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อคดีปรากฏเหตุเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรที่จะมีคำสั่งยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) (2) แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้

พิพากษายืน

Share