แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จะได้บัญญัติไว้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็ดี แต่บัญญัติของมาตรานี้ก็อยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือจะผูกพันก็แต่คู่ความเดียวกันเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 2 ได้ขับรถของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้าง ชนรถโจทก์โดยประมาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 15,314 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ 28,897 บาท
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะส่งหมายเรียกไม่ได้ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 15,314 บาทให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย 28,897 บาท ให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย
โจทก์ฎีกา
เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ อัยการได้ฟ้องโจทก์ (นายเหลียงปั้ง) เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาว่าขับรถยนต์ประมาทชนรถยนต์ของนายเปงกุ่ย (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เสียหาย ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพยานจำเลยฟังหักล้างได้ตามคดีแดงที่ 1311/2494 ของศาลแขวงพระนครเหนือ คดีนั้นถึงที่สุดเพียงศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาในคดีแพ่งนี้ว่าคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือย่อมผูกพันจำเลย
ศาลฎีกาได้พิจารณาข้อกฎหมายนี้แล้ว เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 จะได้บัญญัติไว้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็ดี แต่บทบัญญัติของมาตรานี้ก็อยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 กล่าวคือ จะผูกพันคู่ความเท่านั้น แต่จำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีของศาลแขวงพระนครเหนือนั้นไม่
ส่วนข้อเท็จจริงศาลฎีกาฟังตามศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาพิพากษายืน