แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้องโดยให้เหตุผลว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ที่จะพิจารณาพิพากษา คำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542มาตรา 9(1) นั่นเอง ศาลชั้นต้นต้องทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของคุณหญิงโกมารกุล มนตรี ซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5037 ตั้งอยู่ริมถนนสุริวงศ์ จังหวัดพระนคร จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการของจำเลยที่ 2 ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตบางรัก จำเลยที่ 2 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องการดูแลรักษาที่สาธารณะ และควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3เมษายน 2507 เจ้ามรดกได้นำที่ดินออกให้เช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ โดยอาคารพาณิชย์ซึ่งรวมถึงชายคาหรือกันสาดได้ก่อสร้างในเขตที่ดินมรดกโดยได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า อาคารพาณิชย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ต่อมาที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ โจทก์กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีข้อขัดแย้งกันทำให้การรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินต้องล่าช้าต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินทั้งแปลงเพื่อแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน จำเลยที่ 1 ได้มาระวังชี้เขตที่ดินที่อยู่ติดต่อกับที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน จำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแนวเขตที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ที่อยู่ติดถนนสุริวงศ์ว่ารุกล้ำเข้าไปในส่วนที่เป็นทางเท้าสาธารณะ ซึ่งความจริงอาคารและสิ่งปลูกสร้างมิได้มีส่วนใดยื่นเข้าไปหรือรุกล้ำเข้าไปในถนนสุริวงศ์แต่อย่างใดพื้นที่ใต้ชายคาหรือกันสาดนั้น เมื่อปี 2538 จำเลยทั้งสองได้ปูถนนทับพื้นที่ส่วนดังกล่าวด้วยอิฐตัวหนอน เพื่อให้เป็นแนวระดับเดียวกับพื้นที่ทางเท้าสาธารณะนอกกันสาด โดยมิได้มีความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาอุทิศหรือทอดทิ้ง หรือปล่อยให้พื้นที่ของโจทก์ส่วนนี้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 รับรองแนวเขตในการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ตามรูปแผนที่ผลการรังวัดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ดินบริเวณที่จำเลยที่ 1คัดค้านแนวเขตการรังวัดมิใช่ที่ดินของโจทก์ เพราะเป็นทางเท้าสาธารณะประชาชนทั่วไปใช้สัญจรมาเป็นเวลานานหลายสิบปี จำเลยที่ 2 ได้ปรับปรุงถนนสุริวงศ์และทางเท้าของถนนดังกล่าวหลายครั้งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสัญจรตลอดมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้แล้ว ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นไม่รับฟ้อง คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้ แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 254 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นให้เหตุผลว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ที่จะพิจารณาพิพากษา คำสั่งดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1)นั่นเอง ซึ่งกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ก่อนมีคำพิพากษาถ้าศาลที่รับฟ้องคดีนั้นเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 บัญญัติให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ศาลรับฟ้องเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็น ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติถึงกระบวนการชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล กล่าวคือหากศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลตนก็ชอบที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัตินี้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองกลาง ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองกลาง หากศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองกลาง หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองกลาง แต่ถ้าศาลปกครองกลางมีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยต่อไปการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องโจทก์นั้นไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 อุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปนั้น ไม่อาจพิพากษาให้ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่”