แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยเป็นลูกค้าของจำเลย ประมาณเดือนกรกฎาคม 2521โจทก์ได้ส่งใบสอบราคาเพื่อจัดพิมพ์สมุดบันทึกประจำปี พ.ศ. 2522 ไปให้จำเลยใบสอบราคาได้กำหนดขนาด วัตถุดิบที่ใช้กำหนดวันแล้วเสร็จ วิธีการจัดส่งและจำนวนการสั่งพิมพ์จากขั้นต่ำ 8,000 เล่ม ถึงขั้นสูง 15,000 เล่ม มีข้อกำหนดด้วยว่าถ้า การพิมพ์ไม่เป็นไปตามใบสั่ง โจทก์มีสิทธิไม่รับของและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และถ้าส่งล่าช้า จะถูกปรับวันละ 2,000 บาท จำเลยได้กรอกราคาในใบสอบราคาของโจทก์แล้วส่งกลับคืนไป โดยเสนอว่าถ้าพิมพ์จำนวนขั้นต่ำและขั้นสูงราคาจะแตกต่างกัน ถ้าพิมพ์จำนวนน้อยจะแพงกว่าพิมพ์จำนวนมากมีรายละเอียดทุกราคา ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2521โจทก์ตอบตกลงให้จำเลยจัดพิมพ์ หลักฐานดังกล่าวเป็นคำเสนอสนองระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดเป็นสัญญาขึ้น เรื่องจำนวนพิมพ์ที่แน่นอน จำเลยไม่ได้เกี่ยงให้ฝ่ายโจทก์กำหนดก่อนเพราะเคยพิมพ์กันมาแล้ว จึงหาใช่ข้อสารสำคัญไม่ การที่ระบุในใบสอบราคาว่าตัวอย่างและรายละเอียดตลอดจนการอนุมัติการวางรูปเล่ม จำนวนสั่งพิมพ์ให้ติดต่อกับ ร. เจ้าหน้าที่แผนกโฆษณาของโจทก์ก็เพื่อให้ทราบว่าจะติดต่อกับผู้ใดข้อโต้แย้งของจำเลยว่ายังไม่ได้ตกลงรับจ้างเพราะไม่ทราบจำนวนพิมพ์และวันหยุดของธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นเรื่องกล่าวอ้างขึ้นภายหลังดังจะเห็นได้ว่าจำเลยก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้สั่งทำและขอเลื่อนเวลาการส่งของออกไปจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยไม่สามารถส่งของให้โจทก์ได้ภายในกำหนด จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในการดำเนินงานล่วงหน้าจากโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีความประสงค์จะจัดทำสมุดบันทึกประจำปี พ.ศ. 2522 ประมาณ 10,000 เล่ม ได้จัดหาผู้เข้าประมูลประกวดราคา มีผู้ยื่นประมูลหลายรายรวมทั้งจำเลย โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลย กำหนดจัดทำให้เสร็จและส่งมอบภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2521 ต่อมาจำเลยขอเลื่อนกำหนดเวลาส่งมอบไปเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ยอมขยายเวลาให้ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2521 ถึงกำหนดจำเลยไม่สามารถส่งมอบให้โจทก์ได้เป็นการผิดสัญญา ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงิน 82,370 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ได้ประกาศแจ้งความประกวดราคาแต่นำแบบฟอร์มที่พิมพ์ข้อความมาสอบถามราคาจำเลยเสนอราคาค่าพิมพ์ต่อเล่มให้โจทก์ทราบ ใบเสนอราคายังไม่ผูกพันต่อกัน ในเดือนสิงหาคม 2521 โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยยืนยันราคาและเงื่อนไขกำหนดวันพิมพ์เสร็จ และการอนุมัติพิมพ์โดยยังไม่ได้กำหนดจำนวนแน่นอน หนังสือดังกล่าวมิใช่ใบสั่งทำและจำเลยยังมิได้ตกลงรับจ้างทำเพราะโจทก์ยังมิได้สั่งจำนวนแน่นอน แต่โจทก์ขอร้องให้จำเลยตระเตรียมงานล่วงหน้าไปก่อนโดยยืนยันว่าจะว่าจ้างพิมพ์ สมุดบันทึกดังกล่าวจะต้องมีปฏิทินแจ้งวันหยุดราชการเป็นสำคัญเป็นหน้าที่ของโจทก์จะจัดหาให้จำเลย แต่โจทก์ขอร้องให้จำเลยเป็นธุระให้ จำเลยรอจนกระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2521 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงแจ้งวันหยุดทางราชการให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปทราบ และจำเลยได้รับแจ้งจากธนาคารพาณิชย์เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2521 แต่โจทก์ก็ยังไม่แจ้งจำนวนพิมพ์ที่แน่นอนจำเลยเกรงว่าจะพิมพ์ให้เสร็จไม่ทัน จึงขอเลื่อนกำหนดวันส่งของไปเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน2521 โจทก์มิได้ปฏิเสธ หลังจากนั้นโจทก์แจ้งจำนวนพิมพ์ว่าสั่งพิมพ์ 9,674 เล่ม และส่งรายชื่อลูกค้าที่ให้จำเลยช่วยจัดส่ง รวมทั้งอนุมัติตัวอย่างผ้าแลกซีนเพื่อทำปก ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2521 กลับตอบปฏิเสธไม่ยอมให้เลื่อนกำหนดการส่งของตามที่จำเลยขอในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521ให้ส่งอย่างช้าในวันที่ 4 เดือนเดียวกัน การเลิกจ้างของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะได้ลงทุนตระเตรียมงานไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าปรับจากจำเลย จำเลยได้รับความเสียหายขอให้พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งเป็นเงิน 54,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมโจทก์ใช้สิทธิเลิกจ้างเพราะจำเลยผิดสัญญา จำเลยไม่ได้เสียหาย โจทก์ไม่ผิดสัญญาจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เคยเป็นลูกค้าของจำเลย ประมาณเดือนกรกฎาคม 2521 โจทก์ได้ส่งใบสอบราคาเพื่อจัดพิมพ์สมุดบันทึกประจำปี พ.ศ. 2522 ไปให้จำเลยและจำเลยได้กรอกราคาส่งกลับคืนมาให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ. 4 โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยตามใบสั่งเอกสารหมาย จ. 5 ถึง จ. 7 กำหนดส่งมอบของภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2521 ต่อมาจำเลยขอเลื่อนส่งมอบของไปวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ไม่ยอมและให้ส่งมอบภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2521 มิฉะนั้นถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาทันที ครั้นถึงกำหนดจำเลยไม่ส่งมอบของ โจทก์บอกเลิกจ้างกับจำเลย คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการจ้างทำของระหว่างโจทก์จำเลยเกิดเป็นสัญญาแล้วหรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ค่าเสียหายเพียงใด พิจารณาใบสอบราคาของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 4 แล้ว ได้กำหนดขนาด วัตถุดิบที่ใช้กำหนดวันแล้วเสร็จ วิธีการจัดส่งและจำนวนการสั่งพิมพ์จากขั้นต่ำ 8,000 เล่ม ถึงขั้นสูง 15,000 เล่ม ทั้งมีข้อกำหนดด้วยว่าถ้าการพิมพ์ไม่เป็นไปตามใบสั่งโจทก์มีสิทธิไม่รับของและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และถ้าส่งของล่าช้าจะถูกปรับวันละ 2,000 บาท จำเลยได้กรอกราคาในใบสอบราคาของโจทก์แล้วส่งกลับคืนไปโดยเสนอว่าถ้าพิมพ์จำนวนขั้นต่ำและขั้นสูงราคาจะแตกต่างกันคือถ้าพิมพ์จำนวนน้อยจะแพงกว่าพิมพ์จำนวนมาก มีรายละเอียดทุกราคา ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2521 โจทก์ตอบตกลงให้จำเลยจัดพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 เห็นว่าจากหลักฐานดังกล่าวเป็นคำเสนอคำสนองระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดเป็นสัญญาขึ้น เรื่องจำนวนพิมพ์ที่แน่นอนได้ความจากนายพันธ์ศักดิ์ผู้จัดการแผนกจัดซื้อพยานโจทก์ว่า จำเลยไม่ได้เกี่ยงให้ฝ่ายโจทก์กำหนดก่อนเพราะเคยพิมพ์กันมาแล้ว จึงหาใช่ข้อสารสำคัญไม่ การที่ระบุว่าตัวอย่างและรายละเอียดตลอดจนการอนุมัติการวางรูปเล่มจำนวนสั่งพิมพ์ให้ติดต่อกับนายเรืองเกียรติ เจ้าหน้าที่แผนกโฆษณาของโจทก์ก็เพื่อให้ทราบว่าจะติดต่อกับผู้ใด ซึ่งนางสาวอังคณา ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยเบิกความยอมรับว่าไปติดต่อกับนายเรืองเกียรตินำผ้าปกแลกซีนไปให้เลือก หลังจากโจทก์ตอบตกลงสั่งทำประมาณ 2 วัน ข้อโต้แย้งของจำเลยว่ายังไม่ได้ตกลงรับจ้างเพราะไม่ทราบจำนวนพิมพ์และวันหยุดของธนาคารพาณิชย์ นั้น เป็นเรื่องกล่าวอ้างขึ้นภายหลัง ดังจะเห็นได้ว่าจำเลยก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้สั่งทำและขอเลื่อนเวลาการส่งของออกไปตามเอกสารหมาย ล.35 ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าการที่จำเลยขอเลื่อนเวลาส่งมอบของเป็นคำบอกปัดไม่รับจ้างเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ โจทก์ไม่สนองรับข้อเสนอใหม่ของจำเลยสัญญายังไม่เกิดขึ้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ได้ความว่าสัญญากำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 27 ตุลาคม 2521 ถึงกำหนดจำเลยขอเลื่อนไป 1 เดือน โจทก์ไม่ยอมและให้จำเลยส่งมอบภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2521 มิฉะนั้นถือว่าบอกเลิกสัญญาทันที แต่จำเลยไม่สามารถส่งของได้ภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในการดำเนินงานล่วงหน้าจากโจทก์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นอันตกไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล เฉพาะค่าขึ้นศาลให้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์