แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การจดทะเบียนจำนองตึกแถวตามฟ้องตามระเบียบของทางราชการไม่จำเป็นจะต้องใช้หนังสือให้ความยินยอมของเจ้าของที่ดินประกอบในการขอจดทะเบียนการจะใช้หรือไม่ใช้หนังสือดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าการใช้เอกสารปลอมของจำเลยอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ป.และโจทก์ร่วม เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268หรือไม่ หาใช่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงไม่ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ลงโทษจำคุก 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงว่า การที่จำเลยนำหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการใช้เอกสารปลอม ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายประวิทย์ บริรักษ์เลิศ และโจทก์ร่วมเพราะทำให้นายประวิทย์ยอมรับจำนองตึกแถวจากจำเลย และเป็นผลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์ของโจทก์ร่วมในคดีที่นายประวิทย์ ฟ้องบังคับจำนองและยึดตึกแถวทั้งสองคูหา ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำเบิกความของนายบุญรอด ลาภทวี พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เบิกความว่าการไม่รับจดทะเบียนจำนองเพราะเหตุหนังสือให้ความยินยอมของเจ้าของที่ดินเป็นเอกสารปลอมนั้น ไม่ใช่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ตามระเบียบของทางราชการนั้นแม้ผู้จำนองและผู้รับจำนองไม่ได้นำหนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดินมาแสดง และทั้งสองฝ่ายยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนจำนองให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะต้องจดทะเบียนจำนองให้ แสดงให้เห็นว่าการจดทะเบียนจำนองตึกแถวตามฟ้องไม่จำเป็นจะต้องใช้หนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.2 ประกอบในการขอจดทะเบียนดังนั้น การจะใช้หรือไม่ใช้หนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.2ไปประกอบในการขอจดทะเบียนจำนองตึกแถวตามฟ้อง ก็ไม่เกิดความเสียหายหรือน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การใช้เอกสารปลอมของจำเลยอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายประวิทย์และโจทก์ร่วม เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 หรือไม่ หาใช่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงไม่ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย