คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลักลอบเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายโดยมิได้มีการนัดหมายกับนางสาว ส. บุตรผู้เสียหาย แม้จำเลยจะเคยได้เสียกับนางสาว ส. มาก่อน แต่ก็ได้เลิกติดต่อกันมา 2 เดือนก่อนเกิดเหตุ ดังนี้การที่จำเลยถอดม่านมุ้งลวดแล้วปีนเข้าไปในห้องนอนของนางสาว ส. กับรื้อค้นสิ่งของภายในห้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยถือวิสาสะ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๓๓๕ (๑) (๓) (๔) (๘) , ๓๖๒, ๓๖๕ (๓)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ (๓) จำคุก ๑ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ เดืนอ ความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ( ที่ถูกน่าจะเป็นแก้ ) ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา จำเลยได้เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของนายสุวิทย์ ผู้เสียหาย และจำเลยได้งัดมุ้งลวดเหนือประตูห้องของนางสาวสุรางค์รัตน์ แล้วปีนเข้าไปในห้องโดยช่องทางนี้ และแม้นางสาวสุรางค์รัตน์จะเคยได้เสียกับจำเลยมาก่อนก็ตามแต่ก็มิได้เลิกติดต่อกับจำเลยมาก่อนเกิดเหตุถึง ๒ เดือน และไม่เคยนัดหมายให้จำเลยมาพบกันอีกเลย การที่จำเลยลักลอบเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตกับถอดบานมุ้งลวดแล้วปีนเข้าไปในห้องนอนของนางสาวสุรางค์รัตน์กับรื้อค้นสิ่งของภายในห้องนั้น ครั้นเมื่อทราบว่ามีผู้รู้เห็นจำเลยได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่บนดาดฟ้าจนเจ้าพนักงานตำรวจกับผู้เสียหายจับจำเลยได้เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหาย อันเป็นเป็นการรบกวนครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยถือวิสาสะ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ (๓)
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ (๓) จำคุก ๑ ปี และปรับ ๓,๐๐๐ บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก ๘ เดือนและปรับ ๒,๐๐๐ บาท รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี

Share