คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุรถยนต์ของกลางจอดอยู่นอกรั้วบ้านที่จำเลยกับพวกเข้าไปลักทรัพย์โดยจำเลยกับพวกถูกจับขณะที่ยังไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินที่ลักมาขึ้นรถยนต์แต่อย่างใดจำเลยกับพวกเพียงนำรถยนต์มาจอดใกล้บริเวณเกิดเหตุเท่านั้น และจะใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการขนย้ายทรัพย์ออกไปหลังจากที่ลักทรัพย์สำเร็จ เมื่อยังไม่มีการขนย้ายทรัพย์ที่ลักมาขึ้นรถยนต์ จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์โดยตรง รถยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ต้องคืนให้แก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335(3)(7) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง), 336 ทวิ และริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผ – 2192 พิษณุโลก ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย และรถยนต์ของกลางไม่ใช่ยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางผู้ร้องร่วมกระทำความผิดกับจำเลยและรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดโดยใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการกระทำผิดร่วมกับจำเลยด้วย

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลย ผู้ร้องและนายวิชิต มะพันธ์หรือมะพัน ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในคดีเดียวกันข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ พร้อมกับยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผ – 2192 พิษณุโลก เป็นของกลาง จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาให้จำคุกจำเลย 6 เดือน รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี โดยคุมความประพฤติจำเลย กับให้ริบรถยนต์ของกลาง ส่วนผู้ร้องและนายวิชิตถูกแยกฟ้องไปดำเนินคดีที่ศาลอาญาในคดีหมายเลขแดงที่ 10737/2542 ซึ่งพิพากษาให้จำคุกคนละ 2 ปี แต่ไม่ริบรถยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำผิดหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากร้อยตำรวจโทสุรพงศ์ นามปัดสา พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องว่า ขณะเกิดเหตุรถยนต์ของกลางจอดอยู่นอกรั้วที่จำเลยกับพวกเข้าไปลักทรัพย์โดยจำเลยกับพวกถูกจับขณะที่ยังไม่ได้ขนย้ายทรัพย์ที่ลักมาขึ้นรถยนต์ของกลางแต่อย่างใด เห็นได้ว่า จำเลยกับพวก เพียงนำรถยนต์ของกลางมาจอดใกล้บริเวณเกิดเหตุเท่านั้น และจะใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการขนย้ายทรัพย์ออกไปหลังจากที่ลักทรัพย์สำเร็จแล้ว เมื่อยังไม่มีการขนย้ายทรัพย์ที่ลักมาขึ้นรถยนต์ของกลางจึงรับฟังไม่ได้ว่า มีการใช้รถยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์โดยตรง รถยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงจะริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 จึงต้องคืนให้แก่ผู้ร้อง ปัญหาที่ว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลฎีกาโดยตรงก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามฎีกาโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share