แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บัตรราคาสินค้าและบันทึกการวิเคราะห์ราคาของกรมศุลกากรเป็นเอกสารภายในของโจทก์ที่ทำขึ้น บุคคลภายนอกไม่อาจจะทราบได้ทั้งการประเมินราคาสินค้าของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีการประเมินภายหลังจากจำเลยที่ 1 นำสินค้าเข้ามาแล้วเป็นเวลากว่า 4-5 ปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ราคาสินค้าที่ปรากฏในบัตรราคาสินค้าและบันทึกการวิเคราะห์ราคาที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์นำมาเทียบเคียง กับราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นราคาของสินค้าประเภทเดียวกันชนิดเดียวกันกับสินค้าของผู้อื่นซึ่งนำเข้าในราชอาณาจักรมาแล้วในเวลาเดียวกันและใกล้เคียงกันกับเวลาที่จำเลยที่ 1 นำเข้า เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความดังกล่าวจึงไม่อาจจะถือเอาราคาตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ทำการประเมินสินค้าของจำเลยที่ 1 เพิ่มเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ การประเมินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มเติมสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำเข้ามาภายในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าประเภทผ้าโสร่ง ผ้าฝ้าย และกางเกงยีนส์รวม 5 ครั้ง จำเลยที่ 1ได้สำแดงราคาสินค้าตามใบขนสินค้าเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 5 ฉบับ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เห็นว่า ราคาสินค้าตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง จึงประเมินราคาเสียใหม่โดยใช้วิธีเทียงเคียงกับราคาสินค้าชนิดเดียวกันในท้องตลาด ขณะที่จำเลยนำเข้าเป็นหลักเกณฑ์ในการประเมิน แล้วเจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 ถึงครั้งที่ 5 เพิ่มจากราคาที่จำเลยที่ 1 สำแดงอีก โจทก์ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าทั้ง 5 ฉบับ ให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วและจำเลยที่ 1 จะต้องชำระภาษีอากรเพิ่มขึ้น แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ชำระค่าภาษีอากรที่แจ้งไปและมิได้อุทธรณ์การประเมินเงินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับการแจ้งการประเมิน จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มนั้น และจำเลยที่ 1 จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องนำมาชำระนั้นนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 ไป จนถึงวันที่นำเงินมาชำระอีกทั้งจำเลยที่ 1 ต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินค่าภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มนับแต่วันที่พ้นกำหนด 15 วันถัดจากเดือนภาษีของการนำเข้าสินค้าแต่ละรายการของจำเลยที่ 1 นั้นและต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลอีกร้อยละ 10 ของจำนวนเงินเพิ่มภาษีการค้า รายละเอียดจำนวนเงินที่เพิ่มค่าอากร เงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์จนถึงวันฟ้อง 173,263.89 บาท จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 173,263.89 บาท กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ยังขาดตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 5 ฉบับ ตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินเพิ่มภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 3 ถึงฉบับที่ 5 ในอัตราตามกฎหมายตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าหรือภาษีบำรุงเทศบาลที่ต้องชำระเพิ่ม
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า สินคค้าที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาตามฟ้องทั้ง 5 รายการ มีราคาถูกต้องแท้จริงตามราคาในท้องตลาด ราคาสินค้าที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้กำหนดขึ้นใหม่มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ราคาประเมินดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสี่ไม่เคยได้รับการแจ้งการประเมินเงินอากรเพิ่มจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มตามมาตรา 112 ทวิ 112 ตรี และ 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า การประเมินอากรขาเข้าเพิ่มสำหรับสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าของโจทก์ชอบหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2520 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยที่ 1ได้นำสินค้าผ้าฝ้ายประเภทผ้าโสร่ง และกางเกงยีนส์เข้ามาในราชอาณาจักรรวม 5 ครั้ง จำเลยที่ 1 ได้สำแดงราคาสินค้าและชำระภาษีอากรขาเข้าและตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เห็นว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงราคาไว้ตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมินราคาใหม่และได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรเพิ่มตามใบประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้า แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง เห็นว่าแม้โจทก์จะมีนางรัศมี โกมลวาทิน และนางพวงผกา ยิ่งเสรี เจ้าพนักงานประเมินเป็นพยานเบิกความว่า พยานซึ่งเป็นผู้ทำการประเมินราคาสินค้าของจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่สำแดงไว้ต่ำกว่าราคาสินค้าที่ปรากฏในบัตรราคาสินค้า และบันทึกการวิเคราะห์ราคาซึ่งได้นำมาเทียบเคียงกัน จึงได้ทำการประเมินราคาใหม่ เมื่อคำนวณค่าอากรแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพิ่มขึ้นได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบ กับยืนยันว่าบัตรราคาสินค้าและบันทึกการวิเคราะห์ราคาถือจากราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่นำเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกันแม้สินค้าของจำเลยที่ 1 นำมาจากประเทศอินโดนีเซียและซื้อผ่านประเทศสิงคโปร์เหมือนกันก็ตาม แต่บัตรราคาสินค้าและบันทึกการวิเคราะห์ราคาดังกล่าวปรากฏตามคำเบิกความของนางพวงผกาว่าเป็นเอกสารภายในของโจทก์ที่ทำขึ้นบุคคลภายนอกไม่อาจจะทราบได้ ทั้งการประเมินราคาสินค้าของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีการประเมินกันภายหลังจากจำเลยนำสินค้าเข้ามาแล้วเป็นเวลากว่า 4-5 ปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ราคาสินค้าที่ปรากฏในบัตรราคาสินค้าและบันทึกการวิเคราะห์ราคาที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์นำมาเทียบเคียงกับราคาสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นราคาของสินค้าประเภทเดียวกันชนิดเดียวกันกับสินค้าของผู้อื่นซึ่งนำเข้าในราชอาณาจักรมาแล้วในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับเวลาที่จำเลยที่ 1 นำเข้า เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความดังกล่าว จึงไม่อาจจะถือเอาราคาตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ทำการประเมินสินค้าของจำเลยที่ 1 เพิ่มเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ การประเมินภาษีอากรขาเข้าเพิ่มเติมสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการไม่ชอบ…”
พิพากษายืน.