คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยหาผู้ฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ โดยหลอกลวงแจ้งเงื่อนไขในการทำสัญญาอันเป็นเท็จทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินและธนาคารออมสินได้จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและเงินรับรองในการหาผู้ฝากและเงินสมนาคุณแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินแก่จำเลย แม้จำเลยจะหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่จำเลยก็ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การที่ธนาคารออมสินได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยก็เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือตามสัญญาซึ่งมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลย มิใช่จ่ายให้จำเลยโดยเหตุที่จำเลยหลอกลวง และมิใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงของจำเลย การหลอกลวงของจำเลยเป็นแต่เพียงทำให้ประชาชนเข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินเท่านั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยเป็นพนักงานธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี ตำแหน่งพนักงานบริการรับใช้ มีหน้าที่เก็บกวาดบริการภายในธนาคาร และงานอื่นตามแต่ผู้จัดการจะใช้ ในการหาผู้ฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ ธนาคารเปิดโอกาสให้พนักงานธนาคารหาเงินฝากประเภทดังกล่าวได้นอกเวลาทำการ และมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนให้เป็นเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองจากธนาคาร เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่พนักงานธนาคาร การที่จำเลยหาผู้ฝากเงินไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของจำเลยและผู้บังคับบัญชาจำเลยก็มิได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวดังนั้น แม้จำเลยทำหลักฐานเท็จขอเบิกเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองในการหาผู้ฝากเงินประเภทดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,344, 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในหน่วยงานหรือองค์การของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน666,027.60 บาท แก่ธนาคารออมสินด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 จำคุก 3 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานในหน่วยงานหรือองค์การของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในหน่วยงาน หรือองค์การของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 จำคุก3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยนำสืบพยานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่มาก เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 666,027.60 บาทแก่ธนาคารออมสิน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า สาเหตุที่ได้เกิดเป็นคดีนี้ขึ้นเนื่องมาจากนายณรงค์ จันบุรี ได้ฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ไว้กับธนาคารออมสิน จำนวนเงินสงเคราะห์ 100,000 บาท และจำนวนเงินสงเคราะห์อุบัติเหตุ 100,000 บาท โดยนางเฉลิม จันทบุรี ภริยาผู้รับประโยชน์คนหนึ่งเป็นคนรับเงิน การฝากเงินดังกล่าวได้กระทำผ่านจำเลย และธนาคารออมสิน สาขาสระบุรีจำเลยเป็นพนักงานออมสินสาขาสระบุรี ตำแหน่งพนักงานบริการรับใช้ ต่อมานายณรงค์ถึงแก่กรรมด้วยโรคเบาหวาน นางเฉลิมติดต่อขอรับเงินจากธนาคารออมสินตามสิทธิในกรมธรรม์ที่ธนาคารออมสินออกให้ไว้แต่ธนาคารออมสินปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะนายณรงค์เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนที่จะฝากเงินหรือทำประกันไว้กับธนาคารออมสิน และปกปิดไม่แจ้งให้ธนาคารออมสินทราบซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญ และผิดเงื่อนไขการฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปลูกค้าที่ฝากเงินหลายรายจึงรวมตัวกันไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสระบุรี ในที่สุดเมื่อธนาคารออมสินสอบสวนเรื่องราวแล้วจึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสระบุรีตั้งเรื่องเป็นคดีนี้ขึ้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่…พิเคราะห์แล้ว สำหรับฐานความผิดฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 นั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง…” และมาตรา 343 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน…” ตามบทกฎหมายดังกล่าวแสดงว่าความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ผู้กระทำต้องได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามโดยการหลอกลวงของผู้กระทำ แต่ตามคำบรรยายฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยได้ทำการหาผู้ฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์โดยหลอกลวงแจ้งเงื่อนไขในการทำสัญญาอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเข้าทำสัญญาฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์กับธนาคารออมสินซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้จะฟังได้ว่าจำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่จำเลยก็มิได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามแต่ประการใด ในการหลอกลวงของจำเลยเป็นแต่เพียงทำให้ประชาชนเข้าทำสัญญาฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์กับธนาคารออมสินเท่านั้น จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี ได้จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและเงินรับรองในการหาผู้ฝากและเงินสมนาคุณแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินให้แก่จำเลยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี จ่ายให้จำเลยไปตามระเบียบข้อบังคับหรือตามสัญญาซึ่งมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลย หาใช่จ่ายให้จำเลยโดยเหตุที่จำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จดังที่ได้กล่าวในตอนต้นไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการที่ธนาคารออมสิน สาขาสระบุรีจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและเงินรับรองกับเงินสมนาคุณแพทย์ให้แก่จำเลยนั้น มิใช่ผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงประชาชน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายบุญเชิญ แขวงโสภา ผู้จัดการออมสินภาค นายนิพัฒน์ นิยมาคมหัวหน้ากองการพนักงานธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ และนายเกษมสุขโข ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาบ้านหมี่ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี พยานโจทก์ว่า จำเลยเป็นพนักงานธนาคารออมสิน สาขาสระบุรี ตำแหน่งพนักงานบริการรับใช้มีหน้าที่เก็บกวาดบริการภายในธนาคารออมสิน และงานอื่นตามแต่ผู้จัดการจะใช้ เกี่ยวกับการหาผู้ฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์นั้น ธนาคารออมสินเปิดโอกาสให้พนักงานธนาคารออมสินหาเงินฝากประเภทดังกล่าวได้ในเวลานอกราชการและวันหยุดราชการ และเมื่อหาผู้ฝากได้แล้วก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินตอบแทนให้เป็นเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองจากธนาคารเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่พนักงานธนาคารการหาผู้ฝากเงินให้เป็นไปตามความสมัครใจของพนักงานแต่ละคน นอกจากพนักงานธนาคารออมสินเองแล้วธนาคารออมสินยังให้สิทธิแก่นิสิตนักศึกษาตามสถาบันต่าง ๆตลอดจนครอบครัวของพนักงานออมสินที่จะหาผู้เข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารได้ด้วย การที่จำเลยหาผู้มาทำสัญญาฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์จึงมิใช่หน้าที่โดยตรงของจำเลยเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต…” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่จำเลยหาผู้ฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของจำเลยและผู้บังคับบัญชาของจำเลยก็มิได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้วแต่ประการใด ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยทำหลักฐานเท็จขอเบิกเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและค่ารับรองในการหาเงินผู้ฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวดังที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share