แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองของที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินย่อมโอนการครอบครองกันได้เพียงการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่จำต้องไปทำหนังสือหรือจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
แม้หนังสือซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยบุกรุกเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้ และเมื่อจำเลยบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ปี โจทก์ย่อมไม่ขาดสิทธิที่จะฟ้องขับไล่เรียกการครอบครองที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ดิน ๒๙ หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาดิน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๕๐ วา เป็นของโจทก์ และบังคับจำเลยให้โอนที่ดินให้แก่โจทก์ ถ้าไม่ไปโอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทและห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง โจทก์เคยเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองและยังติดค้างค่าเช่าอยู่ ๖,๖๐๐ บาท จำเลยทวงถามแล้ว โจทก์ไม่ชำระขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระค่าเช่านาที่ค้างจำนวน ๖,๖๐๐ บาท แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทและค้างค่าเช่ากับจำเลย ตามเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง เอกสารดังกล่าวจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมขึ้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ดิน ๒๙ หมู่ที่ ๕ ตำบลเขาดิน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๒๙ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ตำบลเขาดิน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง ให้ยกคำขออื่นของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องของจำเลยที่ ๑ ไม่มีสาเหตุและส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามความจริงโดยมิได้เข้าข้างฝ่ายใด ทั้งจำเลยที่ ๑ ยังรับว่าได้ขายที่ดินให้แก่โจทก์จริง ส่วนที่จำเลยที่ ๑ นำสืบว่าที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ขายให้แก่โจทก์เป์นที่ดินอยู่เหนือบ้านของโจทก์ มิใช่ที่ดินพิพาทนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ การที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านในการที่จำเลยที่ ๑ นำที่ดินไปขายให้ผู้อื่นแล้วซื้อกลับคืนมาและนำไปจำนองไว้กับธนาคารแล้วไถ่ถอนคืนมาอีกตลอดจนการนำที่ดินไปขอออก น.ส.๓ ก. นั้น เชื่อว่าเป็นเพราะโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายแล้วและจำเลยที่ ๑ ได้รับรองกับโจทก์ว่าเมื่อขอออก น.ส.๓ ก. ที่ดินพิพาทแล้วจะโอนให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์เข้าครอบครองแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินย่อมโอนการครอบครองกันได้เพียงการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบคองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๘ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่จำต้องไปทำหนังสือหรือจดทะเบียนโอนสิทธิการครอบครองกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาประการสุดท้ายว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.๒ ทำไม่ถูกต้องตามแบบ ย่อมตกเป็นโมฆะ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน ๑๐ ปีแล้ว จึงขาดอายุความ จะนำเอกสารหมาย จ.๒ มาฟ้องบังคับเอากับจำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.๒ เป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้โดยไม่จำต้องอาศัยเอกสารหมาย จ.๒ ประกอบกับได้ความจากที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ๒ ครั้ง ครั้งแรกนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถนา โจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยก็หยุดไถนาโจทก์คงเข้าครอบครองทำนาตามเดิม ครั้งที่สองบุกรุกเข้ามาหว่านข้าวก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ประมาณ ๗ – ๘ เดือน จึงเห็นได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ละครั้งไม่เกิน ๑ ปี ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่ขาดสิทธิที่จะฟ้องขับไล่เรียกการครอบครองที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นดุจกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน